บทความเกษตร » ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1  สำหรับเลี้ยงสัตว์พร้อมวิธีทำหญ้ามัก

ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1  สำหรับเลี้ยงสัตว์พร้อมวิธีทำหญ้ามัก

18 ธันวาคม 2023
750   0

ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1  สำหรับเลี้ยงสัตว์พร้อมวิธีทำหญ้ามัก

ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1

ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1


หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุยดี แตกกอดี แก่ช้า ทนแล้ง ใบและลำต้นอ่อนนุ่ม ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี มีผลผลิตต่อไร่สูง ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 6-7 ปี อีกทั้งมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ที่ดีตามที่สัตว์ต้องการ เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ นอกจากหญ้าเนปียร์จะให้ผลผลิตต่อไร่ สูงแล้ว ผลผลิตหญ้าสดที่เหลือจากการเลี้ยงสัตว์ สามารถนำมาเก็บถนอมไว้เลี้ยงสัตว์ได้ในยามขาดแคลนหรือช่วงหน้าแล้ง โดยวิธีการทำหญ้าหมักเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเน่าเสีย

การแปรรูปหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ให้เป็นหญ้าหมัก เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์สำรองในยามที่ขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีอาหารเลี้ยงสัตว์เพียงพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี และสามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ได้เป็นอย่างดี

ลักษณะทั่วไปของหญ้าเนเปียร์

หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นสายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ใบและลำต้นอ่อนนุ่ม ขอบใบไม่คมและไม่มีขน ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ยดี แตกกอดี แก่ช้า ปรับตัวได้ดีในดินหลายสภาพ ไม่ว่าจะเป็นดินร่วนปนทราย ดินเหนียว หรือดินลูกรัง ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์ ทนแล้ง แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง ต้องการปริมาณน้ำฝน ประมาณ 1,000 มิลลิเมตรต่อปี เมื่อเทียบกับอ้อยที่ต้องการน้ำฝน 1,200-1,500 มิลลิเมตรต่อปี ไม่มีโรคและแมลงรบกวน เก็บเกี่ยวง่าย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 6-7 ปี เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด

ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1

การเตรียมดินปลูก

ระยะเวลาที่เหมาะต่อการเตรียมดินคือช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ดินมีความชื้นพอเหมาะง่ายกับการใช้อุปกรณ์การเตรียมดินและไม่เสี่ยงกับฝนตกในขณะปฏิบัติงาน การเตรียมดินที่ดีถูกต้องเหมาะสมควรปฏิบัติดังนี้

  • ก่อนไถเตรียมดิน ควรเก็บกรวด หิน ตอไม้ ออกจากแปลงปลูกให้หมด เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ต่างๆ ขณะเข้าทำงานในแปลง
  • ควรประเมินความหนาแน่นรวมของดินหรือชั้นดินดาน เกษตรกรต้องเก็บตัวอย่างดินส่งให้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้าน
  • การปรับหน้าดินแปลงปลูกให้ราบเรียบสม่ำเสมอ ช่วยให้พื้นที่มีการระบายน้ำได้ดี การเข้าทำงานในแปลงง่ายและสะดวกขึ้น

ในกรณีที่แปลงปลูกเป็นดินเหนียวให้ใช้เครื่องพรวนโรตรี่มินิคอมบายหรือพรวนเพาเวอร์แฮโร่ส์ ซึ่งติดกับรถแทรกเตอร์ที่มีระบบไฮดรอลิกแบบ 3 จุด ซึ่งพรวนแบบอื่นๆ ไม่สามารถทำให้ดินแตกละเอียดพอที่จะหุ้มตาท่อนพันธุ์หญ้าได้ จึงจำเป็นต้องใช้พรวนแบบนี้มีลักษณะคล้ายจอบหลายๆ อัน ดินอยู่รอบเพลาหมุนและสับดินเป็นก้อนเล็กๆ การเตรียมดินให้ดีละเอียดร่วนชุยตลอดทั้งแปลง ทำให้ท่อนพันธุ์ที่ปลูกมีเปอร์เซ็นต์ความงอกดี ถ้าไม่พรวนเปอร์เซ็นต์ความงอกจะต่ำ  เนื่องจากหน่อหญ้าจากท่อนพันธุ์ไม่สามารถแทงรากลงพื้นดินได้

หญ้าเนเปียร์ปากช่อง

การเตรียมพันธุ์สำหรับปลูก

  • กรณีที่จะปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่นั้น ควรจัดทำแปลงพันธุ์เอง เพื่อลดต้นทุนการซื้อท่อนพันธุ์และการขนส่งจากแหล่งอื่นพื่อนำมาปลูก สามารถทำให้เราประหยัดต้นทุนได้
  • ควรใช้ท่อนพันธุ์หญ้าเนเปีร์ปากช่อง จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ที่มีการจัดการดูแลแปลงอย่างถูกต้อง อายุของท่อนพันธุ์อยู่ในช่วงประมาณ 90-110 วัน
  • ช่วงหญ้าอายุ 1-90 วัน ควรสำรวจดูแลรักษาแปลงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอให้มีการเจริญเติบโตดี ปราศจากโรคแมลง
  • อายุของท่อนพันธุ์ที่ผลิตจากแปลงพันธุ์ที่เหมาะสม อยู่ในช่วงประมาณ 90-110 วัน ท่อนพันธุ์จะเริ่มงอกรากออกมาก่อนและงอกตาตามที่หลัง ระบบรากที่แข็งแรงจะปลูกขึ้นดี ถ้ามีการจัดการดูแลอย่างดีแปลงพันธุ์ 1 ไร่ ตัดแต่ละครั้งให้ผลผลิตได้ประมาณ 15,000 กิโลกรัมต่อไร่
  • เมื่อตัดท่อนพันธุ์แล้ว ต้องปลูกให้เสร็จภายใน 4-5 วัน ถ้าทิ้งไว้จะทำให้ จุดเจริญของรากและตาเสียไป

ฤดูปลูกและวิธีการปลูก

ฤดูปลูก แบ่งเป็น 2 ฤดู คือ

  • เขตชลประทานหรือเขตที่ให้น้ำได้ ปลูกต้นฤดูฝนระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม
  • เขตอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ ปลูกปลายฤดูแล้ง เป็นการปลูกข้ามแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย

การดูแลรักษาหญ้ามีการเจริญเติบโต 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 ระยะงอก เริ่มปลูก – 1 เดือน (1 – 4 สัปดาห์) หญ้าใช้อาหารจากท่อนพันธุ์ และความชื้นในดิน ปุ๋ยรองพื้นช่วยให้รากแข็งแรง
  • ระยะที่ 2 ระยะแตกกอ หญ้าอายุ 1 – 1 เดือนครึ่ง (4 – 6 สัปดาห์) ต้องการน้ำและปุยไนโตรเจนมากเพื่อช่วยให้แตกกอและการเจริญเติบโตของหน่อ
  • ระยะที่ 3 ระยะย่างปล้องและสุกแก่ หญ้าอายุ 1 เดือนครึ่ง – 2 เดือน(6 – 8 สัปดาห์) ระยะที่กำหนดขนาดและน้ำหนักของใบและลำต้น เป็นช่วงที่หญ้าเจริญเติบโตเร็วที่สุด ถึงเก็บเกี่ยวจะเป็นระยะสะสมน้ำตาลจึงต้องการปัจจัยต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโต ทั้งแสงแดด อุณหภูมิ น้ำและปุ๋ย

การเก็บเกี่ยว

เพื่อให้ระบบรากของหญ้าที่ปลูกใหม่มีระยะเวลาเจริญเติบโตแข็งแรง และยึดติดกับดินแน่นหนาพอที่จะไม่ทำให้กอหญ้าถูกถอนขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวหญ้าครั้งแรกที่อายุ 3 เดือนหลังปลูกถ้าเป็นหญ้าตอให้เก็บเกี่ยวทุกๆ อายุ 45-60 วัน วิธีการเก็บเกี่ยว ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ ใช้เครื่องเก็บเกี่ยวและใช้แรงงานคน

การทำหญ้าหมัก

หญ้าหมัก หมายถึง พืชอาหารสัตว์ต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้ในสภาพความชื้นสูงในที่ไม่มีอากาศ หรือในภาชนะปิดที่ป้องกันอากาศ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณค่าทางอาหารของพืชเหล่านั้นคงอยู่ การทำหญ้าหมักจากหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เพื่อเป็นอาหารสำรองในยามที่ขาดแคลนพืชอาหารสัตว์

ประเภทของหญ้าหมัก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ หญ้าหมัดสดและหญ้าหมักแห้ง

  • หญ้าหมัดสด คือ หญ้าหมักที่ได้จากการใช้พืชสด มีความชื้นสูงจากการตัดโดยตรงแล้วนำมาหมัก
  • หญ้าหมักแห้ง คือ หญ้าหมักที่ได้จากการใช้พืชสดนำมาผึ่งแดดระยะสั้นเพื่อไล่ความชื้นออกให้เหลือความชื้น แล้วจึงนำมาบรรจุหลุมหมักและต้องสับให้สั้นกว่าชนิดแรกเพื่อให้การอัดแน่นเป็นไปด้วยดี เนื่องจากความชื้นต่ำกิจกรรมจุลินทรีย์ 

การเตรียมการก่อนทำหญ้าหมัก

  • การเลือกพันธุ์หญ้า ควรเลือกพันธุ์หญ้าที่มีแป้งและน้ำตาลมาก เช่น ต้นข้าวฟางข้าวโพด นอกจากนั้นอาจใช้หญ้าเนเปียร์หญ้ามอริชัส หรือหญ้าอื่นๆ ที่มีลักษณะอวบน้ำ แต่การใช้ต้นหญ้าเหล่านี้จำเป็นจะต้องเติมกากน้ำตาลด้วย เพราะหญ้าเหล่านี้มีแป้งเป็นส่วนประกอบน้อย การหมักอาจได้ผลไม่ดีพอ
  • การเตรียมอุปกรณ์ อุปกรณ์ทำหญ้าหมักประกอบด้วยอุปกรณ์การตัด การหั่นหลุมหมัก วัสดุคลุมปิดหลุม เช่น แผ่นผ้าพลาสติกหรือดิน กากน้ำตาล และอุปกรณ์สำหรับขนหญ้าลงหลุมหมักอุปกรณ์การตัดและหั่นหญ้า
  • การเตรียมหลุมหญ้าหมัก หลุมหญ้าหมักมีหลายแบบ เช่น แบบปล่อง ก่อด้วยคอนกรีตสูง 2-3 เมตร หรือมากกว่า แบบหลุมแบบร่องในดินเป็นแบบที่ต้องขุดร่องลึกตามที่ต้องการ แบบหลุมแบบรางบนผิวดินมีลักษณะเช่นเดียวกับแบบร่องในดิน แต่สร้างบนผิวดินแทน ปัจจุบันนิยมทำแบบรางบนผิวดิน เพราะสะดวกต่อการทำงาน

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหญ้าหมัก

  • มีดสำหรับสับหญ้า
  • ถุงดำหรือถุงพลาสติก เพื่อบรรจุหญ้าสำหรับหมัก
  • สารเสริมที่ทำให้การหมักดีขึ้น เช่น กากน้ำตาล เกลือ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของหญ้าหมัก
  • กระสอบยางรัดของ

วิธีการหมัก

  • เริ่มจากการหั่นหรือสับหญ้าสดให้มีขนาด 2-3 เซนติเมตร
  • บรรจุหญ้าสดที่หั่นแล้วลงในถุงพลาสติก อัดให้แน่นเพื่อไล่อากาศออกให้หมด
  • ในขณะที่บรรจุหญ้าลงในถุง ให้ใส่กากน้ำตาลเกลือ ลงไปด้วย โดยแบ่งใส่เป็นชั้นๆ เพื่อช่วยให้การหมักดียิ่งขึ้น
  • ใช้ยางรัดปิดปากถุง ที่บรรจุหญ้าให้สนิท เพื่อป้องกันอากาศและน้ำเข้านำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ระวังอย่าให้ถุงมีรอยรั่วซึม
  • หมักไว้ 3-4 สัปดาห์ หญ้าเหล่านั้นจะกลายเป็นหญ้าหมัก นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ กรณีเริ่มใช้หญ้าหมัก เลี้ยงควรแบ่งให้วันละน้อยและเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เคยชิน

ข้อควรระวังในการทำหญ้าหมัก

  • การอัดหญ้าลงในภาชนะที่ใช้หมักต้องอัดให้แน่นเพื่อไล่อากาศที่มีอยู่ในภาชนะออกให้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้การหมักเกิดได้ดีและหญ้าหมักเสียน้อยที่สุด
  • การปิดภาชนะที่บรรจุต้องทำให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้าไปในกองหญ้าหมัก
  • เมื่อเปิดภาชนะควรใช้ให้หมดในระยะเวลาอันสั้น และเปิดภาชนะอย่าให้กว้างมาก เพื่อช่วยให้หญ้าหมักเสื่อมช้าลง
  • หญ้าที่มาใช้หมักไม่ควรจะมีความขึ้นสูงมากเพราะจะทำให้เกิดน้ำในภาชนะหมักมากเกินไป และหญ้าหมักเก็บได้ไม่นาน
  • ระมัดระวังหนูหรือแมลงสาบที่จะมากัดภาชนะหรือพลาสติกที่ปิดให้เป็นรู อากาศจะเข้าไปทำให้หญ้าหมักเสียได้

ข้อดีของหญ้าหมัก

  • สามารถทำได้ทุกฤดูกาลและใช้ทุกส่วนของต้นพืชให้เป็นประโยชน์
  • ใช้พื้นที่ในการเก็บรักษาน้อย
  • หญ้าหมักมีลักษณะอวบน้ำสัตว์ชอบกิน
  • ลดอันตรายจากอัคคีภัยและสามารถเก็บรักษาได้นาน

ที่มา : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เอกสารอ้างอิง

  • กรมปศุสัตว์. (2554). หญ้าหมัก, เอกสารแนะนำ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ISBN 974-7608-81-2.(พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ซุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
  • กรมส่งเสริมการเกษตร. (2543). การขยายพันธุ์พืช.กรมส่งเสริมการเกษตร (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก : http://www.sevicelink.doae.go.th/webpage/book%20PDF/innovation/n008.pdf (20 ธันวาคม 2561).
  • ไกรทอง เขียวทอง. (ม.ป.ป.). คู่มือการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก :http://www.dpo.go.th/wp-content/uploads/2015/01.pdf.(20 ธันวาคม 2561).
  • www.sarakaset.com

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง