บทความเกษตร » ปลูกกระเทียม ไว้กินเอง ในรั้วบ้าน อย่างง่าย

ปลูกกระเทียม ไว้กินเอง ในรั้วบ้าน อย่างง่าย

6 ธันวาคม 2023
440   0

ปลูกกระเทียม ไว้กินเอง ในรั้วบ้าน อย่างง่าย

ปลูกกระเทียม

ปลูกกระเทียม


กระเทียม (Garlic) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum อยู่ในวงศ์ Alliaceae เป็นพืชล้มลุกมีหัวอยู่ใต้ดิน รากไม่ยาวนัก ใบมีลักษณะยาวแบน ปลายใบแหลมโคนต้นมีใบหุ้มซ้อนกัน ออกดอกเป็นช่อสีขาว หัวกระเทียมมีกลิ่นหอมฉุน รสชาติเผ็ตร้อน นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารไทยแทบทุกชนิด และยังมีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต มีสารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่มภูมิต้านทานโรค และช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้นด้วยกระเทียมเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ฤดูกาลปลูก

กระเทียม สามารถปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี และสภาพภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น จึงเหมาะที่จะปลูกในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเตือนมกราคมถึงเดือนเมษายน แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ทางภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การปลูกกระทียม แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

  • ช่วงที่ 1 ปลูกช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า “กระเทียมดอ” หัวฝอง่ายเก็บได้ไม่นาน นิยมใช้ทำกระเทียมดอง
  • ช่วงที่ 2 ปลูกช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม(หลังเก็บเกี่ยวข้าว) และเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เรียกว่า “กระเทียมปี” หัวคุณภาพดีเก็บได้นาน นิยมใช้ทำกระเทียมแห้ง โดยทางภาคเหนือนิยมปลูกทั้งสองช่วงส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกช่วงที่ 2

การเตรียมพันธุ์

เนื่องจากพันธุ์กระเทียมมักจะมีราคาแพงในช่วงฤดูกาลปลูก ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกกระเทียมเป็นอาชีพควรจะเก็บกระเทียมไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ทำพันธุ์ปลูกในปีต่อไป กระเทียมที่ใช้ทำพันธุ์ต้องแก่จัดและแห้งสนิท เลือกลักษณะที่หัวโต แน่น ไม่ฝ่อไม่มีโรคและแมลง โดยใช้หัวกระเทียมอัตรา 150 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 60 – 80 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับกระเทียมที่แกะกลีบแล้ว

การเตรียมดิน

กระเทียมชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำดี และเป็นกรดอ่อนๆ โดยทั่วไปการเตรียมดินมี 2 แบบ ตามลักษณะการปลูก ดังนี้

  • การปลูกแบบยกแปลง การเตรียมดินแบบนี้มักนิยมใช้ในพื้นที่ที่การระบายน้ำไม่ดี โดยใช้แรงคนขุดหรือใช้เครื่องทุ่นแรงไถพรวนแล้วจึงยกแปลงโดยมีร่องน้ำอยู่ข้างแปลง ขนาดแปลงปลูกกว้าง 1 – 2.5 เมตร ระยะระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร
  • การปลูกแบบไม่ยกแปลง เป็นการเตรียมดินทั้งผืนปลูกให้เต็มพื้นที่ วิธีนี้มักใช้กับดินร่วน หรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี

ควรใส่ปุ๋ยคอกที่แห้งดีแล้ว หรือปุยหมัก อัตราไร่ละ 1,600 กิโลกรัม เพื่อปรับปรุงสภาพดิน และช่วยให้กระเทียมงอกและแตกกอดีขึ้น

การปลูก

นิยมปลูกด้วยกลีบนอก เพราะจะให้ผลผลิตสูงและหัวขนาดใหญ่ ก่อนปลูกควรรดน้ำให้ดินชื้นแล้วจิ้มกลีบกระเทียมลงดินให้ลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 10 x 10 – 15 เซนติเมตร หากเป็นพันธุ์จีนใช้ระยะปลูก 12 x 12 เซนติเมตร หลังปลูกใช้ฟางคลุมแปลง เพื่อควบคุมวัชพืช รักษาความชื้นของดิน และลดความร้อนของแปลงปลูก

การดูแลรักษา

การให้น้ำ

ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ครั้งแรกหลังปลูกเสร็จ และให้ครั้งที่สองประมาณ 2 สัปดาห์นับจากครั้งแรก จากนั้นให้ 7 – 10 วันต่อครั้ง หากสังเกตเห็นใบกระเทียมเริ่มเหี่ยวต้องรีบให้น้ำทันที และงดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2 สัปดาห์

การให้ปุ๋ย

ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่หลังจากปลูกเสร็จ และครั้งที่สองใส่เมื่ออายุประมาณ 60 วัน และควรให้ปุ๋ยยูเรียเพื่อเร่งการเจริญเติบโต หลังปลูกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์

การกำจัดวัชพืช

การเตรียมดินที่ดีและการใช้ฟางคลุมแปลงจะทำให้วัชพืชมีโอกาสขึ้นได้น้อย แต่หากมีวัชพืชขึ้นควรกำจัดโดยการถอน ตั้งแต่ระยะที่วัชพืชยังไม่โตเพราะจะถอนง่าย และไม่กระทบกระเทือนรากของกระเทียมมาก

การเก็บเกี่ยว

ควรเก็บเกี่ยวกระเทียมในระยะที่แก่จัด อายุประมาณ 100 – 120 วัน ลักษณะคือ ใบแห้งตั้งแต่ปลายใบลงมามากกว่า 30 % ต้นกระเทียมเอนล้มนอนไปกับพื้นดิน 25 %  ขึ้นไป จะได้กระเทียมที่มีหัวแกร่ง เก็บได้นาน

วิธีเก็บเกี่ยว

ให้ถอนต้นและวางผึ่งไว้ในแปลงโดยวางสลับให้ใบคลุมหัว ป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง ประมาณ 2 – 3 วัน ระวังอย่าให้ถูกฝน และน้ำค้างในเวลากลางคืน แล้วนำมาผึ่งลมในที่ร่มประมาณ 5 – 7 วัน ให้หัวและใบแห้งดี จากนั้นนำมาคัดขนาดและมัดจุกแล้วนำไปแขวนไว้ในโรงเรือนเปิด หรือใต้ถุนบ้านที่มีการถ่ายเทอากาศดีประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ ให้กระเทียมแห้งสนิท แล้วจึงนำไปเก็บรักษาหรือจำหน่ายต่อไป

โรคที่สำคัญ

  • โรคแอนแทรกโนส ลักษณะอาการ ใบมีแผลจุดสีเขียวหม่น ขยายกว้างเป็นวงกลม เนื้อเยื่อบริเวณแผลยุบตัวลง มีจุดสีดำเล็กๆ เรียงซ้อนเป็นวงอยู่ในบริเวณแผล ถ้าโรคเกิดรุนแรงแผลจะขยายมาชนกันเป็นแผลใหญ่ ทำให้ใบหักพับลงและแห้งตาย ป้องกันกำจัดโดย ก่อนปลูกควรไถพรวนตากดินและปรับปรุงดินด้วยปูนขาว แช่ต้นกล้าหรือหัวพันธุ์ในสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น โพรคลอราช อย่าปล่อยให้น้ำขังในแปลง เก็บส่วนที่เป็นโรคไปทำลายให้ห่างจากแปลงปลูก และปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อลดการระบาด
  • โรคใบจุดสีม่วง ลักษณะอาการ ใบเป็นแผลรูปร่างคล้ายกระสวยสีม่วงซีดๆ แผลขยายตัวรูปวงรีตามความยาวใบ ทำให้ใบหักพับและแห้งตาย สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ป้องกันกำจัดโดย เลือกพันธุ์ปลูกที่ปราศจากโรคดูแลแปลงปลูกให้สะอาด เก็บส่วนที่เป็นโรคไปทำลายและควรปลูกพืชอื่นหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรโรค

แมลงศัตรูที่สำคัญ

  • ไรขาวหรือไรหอมกระเทียม ดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบพืชทั้งอ่อนและแก่ทำให้ใบยอดพันกัน ป้องกันกำจัดโดย คลุกกลีบกระเทียมด้วยกำมะถันผงก่อนปลูกและหมั่นตรวจดูแปลง หากพบว่ากระเทียมแสดงอาการดังกล่าวให้รีบถอนทิ้ง
  • เพลี้ยไฟหอม ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ ทำให้เป็นจุด สีขาวซีด บางครั้งใบซีดขาวและเหี่ยวแห้ง ป้องกันกำจัดโดยบำรุงต้นกระเทียมให้แข็งแรง และใช้กับดักกาวเหนียวเพื่อช่วยลดการระบาด

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , withikaset.com


บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง