บทความเกษตร » การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

27 มกราคม 2023
826   0

การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์ เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์

การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์


ปูนา เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับเราคนไทยมาช้านาน เพราะว่าปูนาหาง่ายในสมัยก่อน และในปัจจุบันเมนูของปูนาก็มีมากมายที่หลายๆ ท่านนำมาทำเป็นอาหาร ทั้งต้ม,ปี้ง,ย่าง ปูนาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แต่ในนาเหมือนชื่อแล้วนะครับ ทุกวันนี้มีการเพาะเลี้ยงปูนาไว้เป็นอาหารและก็ทำเป็นอาชีพกันมากมาย และมีการพัฒนาวิธีการเลี้ยงปูนาให้่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเลี้ยงปูนาในบ่อปูน หรือ เลี้ยงปูนาในบ่อดิน

โดยธรรมชาติของปูนาแล้ว ในช่วงฤดูฝนใหม่ปูก็จะออกมาจับคู่ หากินในท้องนา สะสมอาหาร ตัวเมียก็จะเริ่มตั้งท้องประมาณเดือนพฤษภาคม ถึงเดือน กรกฎาคม ปูตัวเมียจะมีไข่ในท้องประมาณ 500-1,000 ฟอง ช่วงนี้หากเรานำแม่ปูมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่เตรียมไว้ มันก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเติบโตให้เรานำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้

เตรียมบ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงปูนา

เริ่มต้นจากการเตรียมบ่อ การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์นั้นมีข้อดีคือ ดูแลง่าย ปูไม่ไต่หนีใช้พื้นที่น้อย ลงทุนน้อย ( สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อปูนขนาดใหญ่ และ วงบ่อปูนขนาดเล็ก แต่การทำวงบ่อปูนขนาดเล็กจะใช้ต้นทุนในการทำบ่อที่ต่ำกว่า เหมาะสำหรับมือใหม่ที่อ ยากเริ่มต้นเลี้ยงจากน้อยๆก่อน ) นำวงบ่อปูนมาตั้ง แนะนำให้ตั้งในที่ร่ม เพราะปูไม่ชอบอากาศร้อน แล้วต่อท่อระบายน้ำออกด้านล่าง เทปูนปิดที่ฐานบ่อ ปล่อยทิ้งไว้ 3 วัน รอให้ปูนเซ็ตตัวและแห้งสนิท

เมื่อปูนเซ็ตตัวจนแห้งแล้วเติมน้ำใส่บ่อจนเต็มบ่อ ใส่ต้นกล้วยและเกลือสินเทา ลงไปแช่ทั้งไว้ 7-15 วัน ( ต้นกล้วยช่วยชะล้างฝุ่นผงปูนที่เคลือบอยู่ตามผิวของวงบ่อปูนออกและกำจัดปรับค่า pH ในบ่อให้สมดุล ส่วนเกลือนั้นในบ่อ เป็นวิธีการทำความสะอาดบ่อที่มีประสิทธิภาพสูง )

เตรียมบ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงปูนา

เมื่อแช่น้ำทิ้งไว้ครบตามที่กำหนดไว้แล้วให้ถ่ายน้ำทิ้ง ล้างทำความสะอาดซ้ำอีกรอบหลังจากนั้นให้นำ ดินเหนียว หรือดินโคลน มาใส่ลงในบ่อให้หนาประมาณ 20 เซนติเมตร หากะละมังหรือภาชนะที่ก้นไม่ลึกมากมาใส่น้ำแล้วฝังลงไปในพื้นดิน หรือทำพื้นดินให้ลาดเอียงลงไปหาแอ่งน้ำในบ่อ เป็นบ่อน้ำไว้ให้ปูได้ลงไปแช่น้ำเล่น หาหลังคากระเบื้อง อิฐบล็อก มาวางไว้ในบ่อปูน ไว้สำหรับเป็นบ้านของปูหรือไว้ให้ปูหนีเข้าไปหลบเมื่อตกใจ แล้วถ้ามีอะไรที่เป็นรูขนาดพอดีตัว ปูจะเข้าใจว่าเป็นบ้าน ทำให้เข้าไปอยู่อาศัยตามสัญชาตญาณ เป็นการเลียนแบบสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ช่วยลดความตึงเครียดเพิ่มโอกาสให้ปูอยู่รอดได้มากขึ้น

การเพาะพันธุ์

ปูนาสามารถนำมาเพาะในโรงเพาะฟักเพื่อผลิตลูกปูวัยอ่อนได้เช่นเดียวกับปูม้า หรือปูทะเล บ่อที่ใช้จะเป็นบ่อ ซีเมนต์ ถังพลาสติก หรือ ตู้กระจก ก็ได้ ขนาดของบ่อก็ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดการของแต่ละท่าน

พ่อแม่พันธุ์

พ่อแม่พันธุ์ ในระยะแรกก็คงต้องรวบรวมจากธรรมชาติ จะเริ่มเพาะจากพ่อแม่พันธุ์ก็ได้ หรือจะใช้แม่ปูที่มีไข่ที่ จับปิ้งและมีลูกปูวัยอ่อนที่ติดกระดองอยู่แล้วมา อนุบาล ก็จะประหยัดเวลาและต้นทุนในการผลิตได้มาก

เลี้ยงปูนา

วิธีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปูนา

ทำการคัดเลือกพ่อปูหนุ่มและแม่ปูหนุ่ม ขนาดตัวกลางๆ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่มากขนาดตัวประมาณ 1.5 นิ้ว สีของเปลือกกระดองต้องไม่เข้มจัด กระดองต้องไม่แข็งเกิน เพราะปูสีเข้มกระดองแข็งคือปูแก่ หากนำมาผสมพันธุ์ในกรณีพ่อปูแก่ แม่ปูจะไม่ยอมรับที่จะให้พ่อปูผสมพันธุ์ กรณีปูเพศเมียแก่ แม่ปูก็จะให้ลูกไม่ดกเท่าที่ควร เนื่องจากตลอดชีวิตปูจะให้ลูกได้เพียง 2-3 ครั้ง มีเพียงปูสาวคลอกแรกเท่านั้นที่ให้ลูกดกที่สุดคือประมาณ 500-1,000 ตัว สำหรับแม่ปูท้องที่สองหรือท้องที่สามจะให้ลูกปูเพียง 200- 500 ตัว ซึ่งวิธีสังเกตแม่ปูนาที่มีไข่แล้ว แม่ปูจะยืนเขย่งอยู่บนบก ไม่ชอบลงน้ำ เกษตรกรจะต้องแยกแม่ปูออกมาให้อยู่ในน้ำตื้น มีการวางสิ่งหลบซ่อน เช่นอิฐบล็อกหรือท่อ PVCตัดสั้นเป็นท่อน ๆ เพื่อให้แม่ปูใช้หลบซ่อน และระดับความสูงของน้ำที่เหมาะสมของแม่ปูท้องควรอยู่ที่ระดับ 3-5 เซนติเมตร แม่ปูท้องต้องการอากาศเย็นสบายและความเงียบสงบ จะชอบหลบซ่อนตัวในที่แคบ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกทำร้ายจากปูเกเรตัวอื่น ๆ และผู้เลี้ยงต้องไม่รบกวน ห้ามหยิบจับแม่ปูมาเปิดท้องเพื่อดูไข่ หรือห้ามไล่แม่ปูลงน้ำเป็นอันขาด เพราะจะทำให้แม่ปูเครียด สลัดไข่ทิ้งก่อนกำหนดคลอด หรือแม่ปูอาจเครียดจนตายได้

อาหารสำหรับเลี้ยงปูนา

การให้อาหารโดยใช้อาหารปลาดุกเม็ดเล็กเสริมด้วยข้าวสวยหุงสุกคลุกเคล้าให้เข้ากันหว่านประมาณ 1 กำมือ ในช่วงเย็นเนื่องจากปูนาจะออกหากินตอนกลางคืน และหมั่นดูแลบริเวณที่อยู่ของปูให้สะอาดโดยต้องเก็บเศษอาหารที่ปู กินไม่หมดทิ้ง และเก็บปูที่ก้ามหลุดออกเนื่องจากจะส่งผลให้โดนปูตัวอื่นมารุมทำร้ายและตายได้ และหากทิ้งอาหารหรือ ปูที่ตายไว้นานๆจะเกิดกลิ่นเหม็นเน่าและมีเชื้อราเกิดขึ้นทำให้ปูเกิดโรคได้ง่ายปูนาจะขุดรูเพื่อจำศีล และใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวจากศัตรูธรรมชาติ เมื่อมีอาหารอุดมสมบูรณ์ปูจะออกมากินอาหารอย่างสม่ำเสมอ และจะผสมพันธุ์อีกครั้งในช่วงต้นฤดูฝนในปีถัดไป

การอนุบาลลูกปูนา

ในช่วง 15 วันแรก ควรให้ ไรแดง หนอนแดง เทา หรือไข่ตุ๋น กินเป็นอาหาร หลังจากนั้นควรให้ปลาหรือกุ้งสับ อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุกก็ใช้ได้ เมื่อมีอายุประมาณ30วัน ก็สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์เพื่อ ให้มีขนาดโตเต็มวัยได้ความหนาแน่นที่ปล่อยเลี้ยง ลูกปูในระยะนี้ควรปล่อยเลี้ยงในปริมาณ 10,000 ตัว/เนื้อที่ 1 ตารางเมตร

การอนุบาลลูกปูนา

การเจริญเติบโต

ปูนามีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบเช่นเดียวกับปูชนิดอื่น ๆ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ก็จะโตเป็นปูเต็มวัย ได้ขนาดตามที่ตลาดการ ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน

การลอกคราบ

การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์

ปูที่จะลอกคราบสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติเมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะนิ่งและเหยียดขาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก ส่วนท้ายพร้อมกับขาเดินคู่สุดท้ายจะออกมาก่อน ขาคู่ถัดมาจะค่อย ๆ โผล่ออกมาตามลำดับ ส่วนก้ามคู่แรกจะโผล่ออกมาเป็นอันดับสุดท้าย ระยะเวลาที่ใช้เวลาลอกคราบทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง

ระยะเวลาในการจับปูนา ราคาในการจำหน่าย

ระยะเวลาในการจับปูนา จะอยู่ในช่วงประมาณ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน เพื่อที่จะจับขายเป็นปูจ๋าสำหรับทอด แต่ถ้าหากอายุ 6 เดือนเราสามารถเริ่มทำเป็นพ่อแม่ พันธุ์ปูนาได้ ให้ลูกประมาณ 700-800 ตัว โดยอัตราการรอดขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการเลี้ยงดู ส่วนใหญ่มักจะรอดประมาณ 450 ตัวถึง 500 ตัว

ตลาดปูนาหรือช่องทางจำหน่าย

ด้านการตลาดในปัจจุบันแต่ละจังหวัดจะมีพ่อค้า แม่ค้า คนกลาง โรงงานปูดอง พ่อค้าแม่ค้า ร้านส้มตำ พ่อค้า แม่ค้า ที่นำไปดองขาย ส่วนเรื่องของราคาก็จะมีการกำหนดเกณฑ์ราคาขั้นต่ำไว้ ถ้ามีการซื้อขายที่สูงกว่าราคาขั้นต่ำก็สามารถทำได้ แต่ห้ามขายต่ำกว่าราคาที่กำหนด

  • พ่อแม่พันธุ์ขายราคาคู่ละ 100 บาท เป็นปูที่คัดแล้วแข็งแรง สมบูรณ์ สีสันดี กระดองดี ขายาวก้ามยาว ส่วนลูกปูไม่แนะนำให้นำไปเลี้ยง เพราะมีโอกาสตายสูง ในส่วนของปูกิโล คือ ปูที่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำพ่อแม่พันธุ์ได้ จะถูกคัดขายเป็นปูกิโลเพื่อนำไปทำอาหาร
  • ปูจ๋าช่วงนี้ราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท
  • ถ้าเป็นปูดอง จะมีดองเกลือ ดองน้ำปลา ดองซอสเกาหลี ญี่ปุ่น ราคาตั้งแต่ 150-500 บาท/กก.
  • ปูสด ราคาอยู่ที่ 100-180 บาท/กก. ราคาขึ้นอยู่กับขนาด ยิ่งขนาดใหญ่ แล้วปูที่มีอายุ 6 เดือน ขึ้นไป จะสามารถนำก้าม เนื้อ และมันปู มาแยกขายได้ต่างหากอย่างขาและส่วนอื่นๆ ที่เหลือจะนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพซึ่งเป็นไคโตซาน ฉีดพ่นในไร่นา สวน หรือปรับสภาพน้ำได้ด้วย
  • ตลาดออนไลน์ เช่น กลุ่ม Facebook,เว็บไชต์ต่างๆ เป็นต้น

โดยรายได้ของชาวเกษตรกรที่เลี้ยงปูนาขั้นต่ำเดือนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทและมีคนรุ่นใหม่ที่หันไปทำการเพาะเลี้ยงปูนา ทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการเลี้ยงเป็นสำคัญ


แหล่งที่มาจาก : https://วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง.com, http://www.lampangfisheries.org, http://lampangfisheries.org, https://www.opsmoac.go.th
เรียบเรียงโดย : นายภาณุ สุทธิประดิษฐ์ กยท.จ.กาฬสินธุ์


บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง