บทความเกษตร » การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) ลงทุนครั้งเดียวเลี้ยงได้นาน

การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) ลงทุนครั้งเดียวเลี้ยงได้นาน

22 กุมภาพันธ์ 2023
983   0

การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) ลงทุนครั้งเดียวเลี้ยงได้นาน

การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู)

ด้วงงวงมะพร้าว เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกในบางพื้นที่ต่าง ๆ กัน ได้แก่ ด้วงมะพร้าว ด้วงไฟ ด้วงสาคู หรือด้วงลาน เนื่องจากใช้ตันสาคูหรือต้นลานมาเป็นพืชอาหารสำหรับเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงมาเลี้ยงในกะละมัง และมีการพัฒนาสูตรอาหารจากเดิมที่ใช้แต่ท่อนลานหรือท่อนสาคูบด ปรับเปลี่ยนไปใช้กากมันสำปะหลังหมักยีสต์ การใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของข้าวโพดบด และพืชอาหารชนิดต่าง ๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง จึงทำให้การเลี้ยงด้วงขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

ด้วงงวงมะพร้าวหรือด้วงสาคู ในประเทศไทย พบอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดเล็ก Rhynchophorus ferrugineus Olivier และ ชนิดใหญ่ Rhynchophorus vulneratus Panzer ซึ่งสามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้ แต่ในประเทศไทยพบว่าด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) Rhynchophorus ferrugineus Oivier นิยมนำมาเพาะเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่

ด้วงงวงมะพร้าว เป็นแมลงกินได้ที่มีการเลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคเป็นอาหารมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่มีพืชประจำถิ่นซึ่งเป็นพืชอาหาร ได้แก่ ต้นสาคู และต้นลาน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการเลี้ยงไมได้มีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แต่ได้มีการเลี้ยงกระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศ

วงจรชีวิตของด้วงงวงมะพร้าว

วงจรชีวิตของด้วงงวงมะพร้าว ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 150 – 259 วัน โดยระยะเวลาในแต่ละช่วงวัยและอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยง อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ สามารถแบ่งวงจรชีวิตของด้วงงวงมะพร้าว ได้ 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะไข่ มีอายุ 2 – 3 วัน เริ่มจากปล่อยให้พ่อ – แม่พันธุ์เริ่มผสมพันธุ์ จากนั้นตัวเมียจะเริ่มไข่ โดยเฉลี่ยตัวเมียหนึ่งตัวจะให้ไข่ประมาณ 11 – 285 ฟองต่อตัว ใช้เวลาในการฟักไข่ประมาณ 1 – 6 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมมีเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณ 14 – 40 องศาเซลเชียส ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่
  • ระยะตัวอ่อนหรือระยะตัวหนอน มีอายุ 35 – 39 วัน หลังจากระยะวางไข่ ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ตัวหนอนจะใช้กรามกัดเปลือกไข่ออกมาเป็นตัวหนอนขนาดเล็กสีขาวใสทั้งตัว ระยะตัวอ่อนมีขนาดโดยความยาวเฉลี่ยประมาณ 8 – 9 มิลลิเมตร ความกว้างประมาณ 7 – 8 มิลลิเมตร แล้วจะค่อย ๆ เจริญเติบโต ทั้งนี้ระยะตัวอ่อนหรือระยะตัวหนอนอาจมีระยะเวลาแตกต่างกันไปอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ อาหาร ซึ่งในบางพื้นที่อาจมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 24 – 128 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่
  • ระยะดักแด้ มีอายุ 20 – 30 วัน เมื่อตัวหนอนมีสีครีมเข้มขึ้น แสดงว่าตัวหนอนเริ่มเข้าสู่ตัวเต็มวัยจะเริ่มเป็นดักแด้ โดยเริ่มสร้างรังเข้าฝักดักแด้ใช้เวลาประมาณ 3 – 7 วัน อยู่ในรังประมาณ 6 วัน ตัวหนอนจะอยู่ในรังดักแด้จนถึงระยะตัวเต็มวัย ซึ่งระยะเข้าดักแด้ประมาณ 0 – 10 วัน ระยะออกดักแด้ประมาณ 5 – 10 วัน ทั้งนี้ระยะเวลาเป็นดักแด้และอุณหภูมิที่เหมาะสมอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่
  • ระยะตัวเต็มวัย มีอายุ 90 – 184 วัน ตัวเต็มวัยด้วงงวงมะพร้าว มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 22 – 35 มิลลิมตร ลักษณะโดยรวมทั้งตัวผู้และตัวเมีย ส่วนอกบางตัวมีสีน้ำตาลดำจนถึงเหลืองส้มและมีสีสด ส่วนอกด้านบนมีลายจุดสีดำกระจายบริเวณด้านบนของอกปล้องแรก ปีกมีสีน้ำตาลดำ ส่วนหัวมีงวงยาวเรียวลงไปทางปลายปาก และปากอยู่ตรงปลายสุดของงวง ปากเป็นประเภทปากกัด ตาอยู่ที่หัวมีสีดำ ที่งวงใกล้กับตา

การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู)

การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) ที่นิยมเลี้ยงในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ การเลี้ยงแบบดั้งเดิมโดยใช้ท่อนสาคูหรือท่อนลาน (แบบธรรมชาติ) และการเลี้ยงแบบพัฒนา (ใช้กะละมัง) โดยแต่ละแบบมีขั้นตอนการเลี้ยง ดังนี้

การเตรียมการก่อนการเลี้ยง

สถานที่เลี้ยง

  • การเลี้ยงแบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคูหรือท่อนลาน (แบบธรรมชาติ)
    สถานที่เลี้ยงควรเป็นที่น้ำไม่ท่วมขัง บริเวณที่เลี้ยงสามารถวางตากแดดตากฝนได้ แต่ต้องมีกระดานทำจากกาบต้นไม้ที่เลี้ยงครอบปิด ปรับพื้นที่กำจัดมดและศัตรูของด้วง และต้องมีมุ้งหรือตาข่ายที่เหมาะสม ที่ทำจากวัสดุที่มีความคงทน เช่น อะลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น ซึ่งสามารถป้องกันด้วงเล็ดลอดออกไปได้
  • การเลี้ยงแบบพัฒนา (ใช้กะละมัง)
    สถานที่เลี้ยงควรเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วมขัง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โรงเรือนที่ก่อสร้าง มีขนาดที่เหมาะสมกับกำลังการผลิต ตัวอาคารโรงเรือนต้องมีความมั่นคง แข็งแรง ทนทาน มีหลังคากันแดดกันฝนได้ มีแสงสว่างเพียงพอ ใช้มุ้งหรือตาข่ายกันด้วงที่มีขนาดความถี่ที่เหมาะสม (ขนาดไม่น้อยกว่า 16 mesh) ที่ทำจากวัสดุที่มีความคงทน เช่น อะลูมิเนียม พลาสติก เป็นต้น เพื่อป้องกันตัวเต็มวัยเล็ดลอดออกไป และป้องกันสัตว์อื่นและสัตว์ที่เป็นศัตรูเข้าโรงเรือน

วัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู)

  • การเลี้ยงแบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคูหรือท่อนลาน (แบบธรรมชาติ)
    • เตรียมท่อนสาคูหรือท่อนลานสำหรับใช้เลี้ยง ขนาดความยาวท่อนละ 50 เซนติเมตร ตั้งเรียงไว้บริเวณที่จะทำการเลี้ยงมีความห่างพอเหมาะแก่การดูแลและเข้าไปเก็บตัวหนอนได้สะดวก
    • พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์
    • ฝักบัวหรือสายยางสำหรับรดน้ำ
  • การเลี้ยงแบบพัฒนา (ใช้กะละมัง)
    • กะละมัง ขนาดกว้าง x ยาว x สูง (38 x 38 x 15 เซนติเมตร) พร้อมฝาปิดพลาสติกแบบมีช่องระบายอากาศได้
    • ต้นสาคูบด ขุยมะพร้าว มันสำปะหลัง และเปลือกมะพร้าวสับ
    • กิ่งปาล์มสดและอ่อน ต้องมีต้นปาล์มในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต
    • เครื่องบดกิ่งปาล์ม
    • ถังพลาสติกทรงกระบอกขนาด บรรจุ 150 ลิตร สูง 95 เชนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 54 เชนติเมตร (95 x 54 เซนติเมตร) พร้อมฝ่าปิดสำหรับหมักปาล์มสดสับ
    • พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์
    • อาหารผสม เช่น หัวอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกร กากน้ำตาล รำข้าว และน้ำสะอาด
    • ฝักบัวหรือสายยางสำหรับรดน้ำต้นสาคูบด
    • ไม้ไผ่ผ่าชีกสำหรับวางแถวซ้อนกะละมัง

การเลี้ยงทั้งแบบดั้งเดิมและแบบพัฒนา หากเป็นการเลี้ยงในพื้นที่ที่ปลูกพืชตระกูลปาล์ม ผู้เลี้ยงจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยตรวจสอบโรงเรือนและภาชนะที่ใช้เลี้ยงเป็นประจำสม่ำเสมอไมให้มีช่องทางที่ด้วงสามารถเล็ดลอดออกไปได้ หากพื้นที่โดยรอบหรือพื้นที่ข้างเคียงกับโรงเลี้ยงเป็นพื้นที่ปลูกพืชตระกูลปาล์มตั้งแต่ 3 ไร่ขึ้นไป โดยมีรัศมีไม่เกิน 3 กิโลเมตรเจ้าของฟาร์มจะต้องจัดหากับดักฟิโรโมนมาติดตั้งบริเวณภายนอกโรงเรือนเพื่อป้องกันตัวเต็มวัยที่อาจเล็ดลอดออกจากโรงเรือนไม่ให้เข้าไปทำลายพืชตระกูลปาล์ม ซึ่งเป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจสำคัญไม่ให้ได้รับความเสียหาย

เรามาดูขั้นตอนการเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) กันว่าเป็นอย่างไร

  • ขั้นตอนการเลี้ยงแบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคูหรือท่อนลาน (แบบธรรมชาติ)
    สำหรับการเลี้ยงแบบธรรมชาตินั้น เริ่มจากการนำท่อนสาคูหรือท่อนลานมาเป็นวัสดุและอาหารสำหรับเลี้ยงด้วง ขนาดความยาวของท่อน ท่อนละ 50 เซนติเมตร ตั้งเรียงไว้ บริเวณที่จะทำการเลี้ยงมีความห่างพอเหมาะแก่การดูแล และเข้าไปเก็บตัวหนอนได้สะดวก แล้วคัดเลือกพ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ ตัวเต็มวัยที่แข็งแรง มีอวัยวะครบทุกส่วน นำมาปล่อย พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ ลงในท่อนสาคู จำนวนท่อนละ 6 ตัว โดยอัตราตัวผู้ 2 ต่อ ตัวเมีย 4 ตัวแ ปิดด้านบนของท่อนสาคูหรือท่อนลาน ด้วยกระดานทำจากกาบต้นไม้ที่เลี้ยงครอบปิด ทำการปรับพื้นที่กำจัดมด และศัตรูด้วงงวงมะพร้าว รดน้ำด้วยฝักบัวหรือสายยางรดน้ำสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 40 – 45 วัน สามารถจับออกขายได้
  • ขั้นตอนการเลี้ยงแบบพัฒนา (ใช้กะละมัง) แบบการเลี้ยงโดยใช้อาหารผสมเอง
    เริ่มจากการเตรียมกะละมังพร้อมฝาปิดพลาสติก แบบมีช่องระบายอากาศ เพื่อใช้เป็นภาชนะเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว ตั้งเรียงไว้บริเวณที่จะทำการเลี้ยงมีความห่างพอเหมาะแก่การดูแล และเข้าไปเก็บตัวหนอน แล้วนำทางปาล์มน้ำมันสด มาลอกเปลือกออก แล้วนำไปใส่เครื่องสับบดจะได้ปาล์มสดละเอียดออกมาบดละเอียดไปฉีดน้ำสะอาด นำมาหมักในถังหมักทิ้งไว้จำนวน 3 วัน 3 คืน จากนั้นเทน้ำออก นำปาล์มสดละเอียดไปผสมกับ กากน้ำตาล น้ำ รำข้าว มันสำปะหลัง และอาหารสุกรผสมคลุกเคล้า ให้เข้ากันตามอัตราส่วนที่กำหนด ผสมแช่ทิ้งไว้ก่อน 20 – 30 นาที เพื่อให้อาหารสุกรละลายเข้ากัน นำส่วนผสมทั้งหมด ใส่เครื่องบด จะได้อาหารผสมสำหรับใช้เลี้ยง จากนั้นนำมาเทใส่กะละมัง แล้ว ปล่อยพ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ ที่แข็งแรงสมบูรณ์ ลงในกะละมังเลี้ยง จำนวน 10 คู่ อัตรา ตัวผู้ 4 ต่อ ตัวเมีย 6 ตัว จากนั้นฉีดน้ำให้พอชุ่ม ปิดฝากะละมัง พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์จะทำการผสมพันธุ์และวางไข่ ทิ้งไว้ประมาณ 25 – 30 วัน สามารถจับออกจำหน่ายได้

แนวทางการจัดการผลผลิต

ตัวหนอนด้วงงวงมะพร้าว

ก่อนการนำหนอนมาจำหน่ายเพื่อการบริโภค ต้องมีการจัดการเพื่อล้างสิ่งสกปรก ทั้งภายในลำไส้และภายนอก ตัวหนอนออกก่อน ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น

  • นำตัวหนอนเลี้ยงในกากมะพร้าวขูดเป็นเวลา 1-2 วัน โดยเปลี่ยนกากมะพร้าวทุกวัน หลังจากนั้นนำตัวหนอนมาล้างน้ำและแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ 10 – 30 นาที จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายต่อไป
  • นำตัวหนอนมาล้างน้ำ โดยแช่ในน้ำเปล่าเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เปลี่ยนน้ำล้างประมาณ 4 รอบ (หรือจนกว่าตัวหนอนจะสะอาด) แล้วนำตัวหนอนมาแชในน้ำกะทิ (ผสมน้ำใบเตยเพื่อให้มีกลิ่นหอม) เป็นเวลา 1 คืน จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายต่อไป

พ่อพันธุ์ – แม่พันธุ์ด้วงงวงมะพร้าว

  • ควรมีการคัดเพศพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์แยกกันไว้ ในภาชนะปิด ระหว่างรอการผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันการหลุดลอดออกไปสู่ธรรมชาติ

เลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว

การแปรรูปด้วงงวงมะพร้าว

ด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) เป็นแมลงพื้นถิ่นที่นิยมเลี้ยงและบริโภคกันมากในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีพืชอาหารที่สำคัญคือ ต้นลานหรือต้นสาคู โดยจะเลี้ยงบนท่อนลาน หรือท่อนสาคู ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงแบบประยุกต์ คือการนำไปเลี้ยงในกะละมัง และนำต้นสาคูบดมาเป็นอาหารเลี้ยงในกะละมัง ทำให้สะดวกในการเลี้ยงมากขึ้น สามารถใช้พื้นที่ในการเลี้ยงที่จำกัด ต่อมาได้ขยายพื้นที่การเลี้ยงไปยังภาคอื่น ๆ ในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถขนส่งสาคูบดไปยังทุกภูมิภาคต่าง ๆ ได้สะดวก นอกจากนี้ยังสามารถใช้พืชอาหารอื่นทดแทนต้นสาคูและต้นลานได้ เช่น มันสำปะหลังเนื่องจากมีลักษณะเป็นแป้ง จึงนำมาผสมเป็นสูตรอาหารสำหรับด้วงได้สะดวกมากขึ้น และในปัจจุบันมีผู้คิดค้นสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงอย่างหลากหลาย จึงทำให้สามารถเลี้ยงได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) นำมาปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น ทอด ปิ้ง คั่วเกลือ ผัด เป็นต้น

ด้วงงวงมะพร้าว

สำหรับช่องทางการตลาด มีการจำหน่ายผลผลิตผ่านตลาดท้องถิ่น ขายส่งให้ผู้รับซื้อจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์จำหน่ายให้คนขายพันธุ์ และไว้บริโภคเอง ตลาดต่างประเทศที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นต้น

ที่มา :  คู่มือการเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง