(วิดีโอ) เพาะเลี้ยงหนอนนก สร้างรายได้ขั้นต่ำ เดือนละ 20,000 บาท l เกษตรกรไทย สร้างรายได้
เพาะเลี้ยงหนอนนก
หนอนนก (Mealworm of Yellow mealworm) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tenebrio molitor Linnaeus วงศ์ Tenebrionidae อันดับ Coleoptera เป็นตัวอ่อนของแมลงปีกแข็ง ที่มีชื่อว่า Meal-Beetle หรือด้วงหนอนนก ลักษณะตอนเป็นหนอนมีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ผอมยาวเป็นรูปทรงกระบอกขนาดของหนอนเมื่อโตเต็มที่มีความกว้างลำตัว 0.28-3.2 มม. ยาว 29.35 มม. มีน้ำหนัก 0.2-0.24 กรัม ส่วนตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็ง สีดำ ธรรมชาติของหนอนนก ไม่ชอบอากาศร้อนสภาพที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 25 ถึง 35 องศาเซลเซียส ต้องมีความชื้นสูงหนอนนกมีคุณค่าทางโภชนาการสูงซึ่งประกอบด้วยโปรตีน 17-19% ไขมัน 7-14% จึงนิยมนำมาใช้เป็นอาหาร นก ไก่ ปลาสวยงาม ปลาดุก กบรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อย่างแพร่หลาย
ตัวเมียที่โตเต็มวัยความยาวประมาณ 1.5-1.8 เชนติเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เมื่อใช้มือบีบที่บริเวณก้นของตัวผู้จะเห็นติ่งแหลม 2 ติ่ง ตัวเมียที่โตเต็มวัย 1 ตัว มีอายุการวางไข่ประม น 40-50 วัน โดยวางไข่วันละ 1-2 ฟอง ซึ่งไข่จะมีความกว้าง 0.8-1.8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.0 มิลลิเมตร
วงจรชีวิตของหนอนนก
หนอนนกมีการเจริญเติบโต 4 ระยะ คือ
- ระยะไข่ ตัวเต็มวัยวางไข่สีขาวขุ่น กลมรี ผิวเรียบ ติดอยู่ตามพื้น มีเศษอาหารปกคลุม อายุไข่ 7 วัน
- ระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนลอกคราบ 13 ครั้ง เมื่อลอกคราบใหม่ๆ จะมีสีขาว แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ตัวอ่อนมีอายุประมาณ 3 เดือน
- ระยะดักแด้ หลังจากหนอนลอกคราบครั้งสุดท้าย จะกลายเป็นดักแด้สีขาว ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ดักแด้มีอายุ 7 วัน
- ระยะตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยเมื่อออกจากดักแด้ จะมีปีกสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 6-7 วัน หลังจากนั้น 3-4 วัน ก็จะเริ่มวางไข่ ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 60-80 วัน สามารถเก็บไข่ได้ถึง 11 ครั้ง
การเพาะเลี้ยงผลิตขยายหนอนนก
วัสดุอุปกรณ์
- ภาชนะสำหรับใช้เลี้ยง ได้แก่ กล่องพลาสติกใส กะละมัง ถาด
- ตะแกรงตาถี่สำหรับร่อนหนอนเล็ก ตะแกรงตาขนาดมุ้งลวดสำหรับหนอนใหญ่ และตะกร้าสำหรับร่อนตัวเต็มวัย
- กระดาษสำหรับวางไข่
- รำข้าวสาลี สำหรับเลี้ยงตัวเต็มวัยให้วางไข่ และเลี้ยงหนอนเล็ก
- อาหารไก่เล็ก โดยธรรมชาติหนอนนกจะกินรำข้าวสาลีเป็นอาหาร แต่เนื่องจากรำข้าวสาลีมีราคาแพง จึงใช้อาหารไก่เล็ก เลี้ยงในระยะที่เป็นตัวหนอน
- อาหารเสริม ได้แก่ ผักและผลไม้ เช่น มะละกอดิบ แตงกวา เปลือกแตงโม เป็นต้น
- ชั้นวางเลี้ยง
- สถานที่เลี้ยง หรือห้องเลี้ยง ควรเป็นที่ที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนจนเกินไป สามารถป้องกันหนู มด จิ้งจก นก อึ่งอ่าง กิ้งก่า จิ้งเหลน ไม่ให้เข้าไปกินหนอนได้
วิธีการเพาะเลี้ยง
- ก่อนทำการเลี้ยง ให้ทำความสะอาดห้องเลี้ยง เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ใช้น้ำยาถูพื้นชนิดฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดพื้นห้องและชั้นวางเลี้ยง เพราะหากห้องเลี้ยงหรือชั้นวางเลี้ยงไม่สะอาด จะเป็นสาเหตุให้หนอนนกติดเชื้อและตายอย่างรวดเร็ว หากเป็นห้องเลี้ยงที่สามารถปิดมิดชิดได้ ก่อนนำหนอนนกเข้าในห้องเลี้ยง ควรทำการรมห้องด้วยฟอร์มาลีนผสมด่างทับทิม อัตราส่วน ด่างทับทิม 10 กรัม ต่อ ฟอร์มาลีน 20 ซีซี ต่อพื้นที่ 5 ตารางเมตร ใช้เทปขนาด 2 นิ้ว ปิดทับขอบประตูและหน้าต่าง เพื่อป้องกันไอระเหยออกมานอกห้อง รมทิ้งไว้ 3-4 คืน เนื่องจากฟอร์มาลีนเป็นสารอันตราย เมื่อผสมเสร็จแล้วจะกลายเป็นไอระเหย มีพิษต่อเยื่อบุจมูกและตา จึงควรรีบออกจากห้องทันทีที่ผสมรวมกัน
- นำหนอนนก มาเลี้ยงในกล่องหรือกะละมัง โดยเลี้ยงด้วยอาหารไก่ เมื่อหนอนกินอาหารไก่หมดแล้ว ใส่ผักหรือผลไม้ที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้หนอนกินบ้าง หนอนกินอาหารจะถ่ายมูลออกมา ใช้ตะแกรงร่อนเอาหนอนออก หนอนจะติดบนตะแกรง ส่วนมูลหรือขี้หนอนจะลอดผ่านตะแกรงลงไป นำหนอนมาเลี้ยงในภาชนะใหม่และใส่อาหารไก่เพิ่ม และให้ผักหรือผลไม้เป็นอาหารเสริม หมั่นเลือกหนอนที่ตายออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หนอนนกจะลอกคราบและโตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นดักแด้ ก่อนเข้าดักแด้ หนอนจะเริ่มหดสั้น ไม่กินอาหาร และ นอนนิ่งๆ
- เลือกดักแด้ออกมาใส่ในภาชนะใหม่ ไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากดักแด้ไม่กินอาหาร ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ดักแด้จะมีสีเข้มขึ้น แล้วตัวเต็มวัยจะออกมาจากดักแด้
- แยกตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์ไปเลี้ยงในภาชนะใหม่ที่รองพื้นด้วยกระดาษขาว (หรือไม่รองก็ได้) ใส่รำข้าวสาลีก่อนใส่ตัวเต็มวัย ให้ผักผลไม้บ้าง เพื่อเป็นอาหารเสริมและทดแทนน้ำ
- เลี้ยงตัวเต็มวัยประมาณ 9 -10 วัน ตัวเต็มวัยจะเริ่มวางไข่บนกระดาษ ร่อนเอาตัวเต็มวัยออก หากให้วางไข่บนกระดาษ ให้เก็บรวบรวมแผ่นไข่มาวางในภาชนะเป็นชั้นๆ โรยด้วยรำข้าวสาลีที่ร่อนเอาตัวเต็มวัยออกแล้ว หากให้วางไข่บนถาด ให้เทรำข้าวสาลีพร้อมตัวเต็มวัยออกมาร่อนตัวเต็มวัย แล้วเทรำข้าวสาลีกลับลงในถาดเดิมที่มีไข่ติดอยู่ พยายามเก็บรวบรวมไข่ทุกวัน หรือ วันเว้นวัน เพื่อให้ได้หนอนนกรุ่นเดียวกัน
- ตัวเต็มวัยที่เก็บไข่แล้ว ให้นำไปใส่ในกล่องเลี้ยงเพื่อให้วางไข่ต่อไป โดยให้รำข้าวสาลีเป็นอาหาร และให้ผักผลไม้เป็นอาหารเสริม
- ประมาณ 7 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวหนอน ในช่วงแรกหนอนจะโตช้า ปล่อยให้หนอนกินอาหารจากรำข้าวสาลีเดิมที่มีอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเพิ่มอาหาร คอยร่อนเอาขี้หนอนออกประมาณ 10-15 วัน/ครั้ง หลังจากมีอายุ 1 เดือน หนอนจะโตเร็วขึ้น เมื่อหนอนลอกคราบ ให้ร่อนขี้หนอนด้วยตะแกรงตาถี่ หลังจากร่อนขี้หนอนออกแล้ว จึงเริ่มให้อาหารไก่แทนรำข้าวสาลี และให้ผักผลไม้เป็นอาหารเสริม
- หนอนอายุประมาณ 2-3 เดือน สามารถนำออกจำหน่ายได้
ศัตรูของหนอนนก
ศัตรูพืชของหนอนนก ได้แก่ มอดแป้ง มด แมลงสาบ ที่อาจจะติดมากับอาหาร ดังนั้น ควรนำอาหารไปแช่แข็งประมาณ 7 วัน หรืออบอาหารที่อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติก่อนนำมาเป็นอาหารหนอนนก ศัตรูอื่นๆ ได้แก่ จิ้งจก นก และหนู
ต้นทุนการเลี้ยงหนอนนก
การผลิตหนอนนก 1 กิโลกรัมใช้ต้นทุนประมาณ 70 บาท ใช้เวลาการผลิต 8-9 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันหนอนนกราคากิโลกรัมละ 150-200 บาท (ขึ้นอยู่กับตลาด)
หากท่านใดสนใจการเลี้ยงขยายพันธุ์ “หนอนนก” สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร โทรศัพท์ 0 2579 7813-4 ในวัน เวลาราชการ
ที่มา Youtrube | เกษตรกรไทย สร้างรายได้
คนต้นเรื่อง : คุณประทุมมา ปัญญาทิพย์(ขิม) สถานที่ถ่ายทำ : ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ติดต่อฟาร์ม :064-254 7898 เฟสบุ๊ค : เกษตรกิจการ์เด้น รับผลิต เพาะต้นกล้า หนอนนก หนอนยักษ์ ปลีก-ส่ง เชียงใหม่
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง