วิดีโอเกษตร » ผึ้งโพรงไทย (Indian honey bee) ในสวนเกษตรผสมผสาน

ผึ้งโพรงไทย (Indian honey bee) ในสวนเกษตรผสมผสาน

23 มกราคม 2023
1200   0

ผึ้งโพรงไทย (Indian honey bee) ในสวนเกษตรผสมผสาน ใครๆก็เลี้ยงได้ประโยชน์ล้วนๆ

ผึ้งโพรงไทย (Indian honey bee)


ผึ้งโพรงไทย (Indian honey bee)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Apis Cerana

           ผึ้งโพรงไทย เป็นแมลงที่มีคุณค่าต่อมวลมนุษย์และช่วยรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมในทางธรรมชาติ ช่วยผสมเกสรพืชเศรษฐกิจมากมายหลายชนิด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะโรงเรียน ส้ม มะพร้าว มะม่วง กาแฟ ท้อ สตรอว์เบอร์รี่ ทานตะวัน มะม่วงหิมพานต์ พืชตระกูลแตง พริก พืชผักที่ต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นต้น

นอกจากนี้ สมัยโบราณได้กล่าวไว้ว่า น้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะสามารถบำรุงร่างกาย ไขผึ้งนำมาทำเทียนจุดให้แสงสว่าง นำผึ้งและ ไขผึ้งสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

          ผึ้งโพรงไทย เป็นผึ้งพื้นเมืองอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ชอบอาศัยในที่มืด สร้างรวงผึ้งเรียงกันตั้งแต่ 5 – 15 รวง มีประชากรผึ้ง ประมาณ 5,000 – 30,000 ตัวต่อรัง ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความอุดมสมบูรณ์ของอาหารผึ้ง ได้แก่ น้ำผึ้งและเกสรดอกไม้ ผึ้ง 1 รังให้น้ำผึ้งเฉลี่ย 5 – 6 กิโลกรัมต่อปี ผึ้งโพรงไทยมีนิสัยอพยพย้ายรัง ไปตามแหล่งอาหารหรือมีศัตรูรบกวน การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจพฤติกรรมและสภาพความเป็นอยู่ของผึ้งจะต้องอดทน ช่างสังเกต เมื่อมีประสบการณ์และมีการจัดการรังผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การเลี้ยงผึ้งโพรงประสบความสำเร็จ

ผึ้งโพรงไทย

ชีวิตและพฤติกรรมของผึ้ง

  1. นางพญา (Queen) ภายในรังจะมีนางพญา 1 ตัว หลังจากบินขึ้นไปผสมพันธุ์กับตัวผู้เรียบร้อยแล้วก็จะมีหน้าที่

วางไข่และควบคุมรัง

  1. ผึ้งตัวผู้ (Drone) มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งพรหมจรรย์เท่านั้น
  2. ผึ้งงาน (Worker) เป็นผึ้งเพศเมียซึ่งถูกสารของนางพญาผึ้งควบคุมไม่ให้ผสมพันธุ์และวางไข่ จะมีหน้าที่ตามอายุ

ของผึ้งงาน ได้แก่ ทำความสะอาดรัง ดูแลและผลิตอาหารป้อนให้แก่นางพญาผึ้งและตัวหนอน ผลิตไขผึ้งเพื่อสร้างรัง ป้องกันรังและออกไปหาอาหาร (น้ำหวานและเกสร) ยางไม้ และน้ำ

การเลี้ยงผึ้งโพรง สามารถทำได้ 3 วิธี

  1. วิธีการซื้อผึ้ง เป็นวิธีการที่ไม่นิยม เนื่องจากผึ้งโพรงไทยมีนิสัยไม่ชอบการรบกวนหรือขนย้ายรังจากที่อื่นมาตั้งใน

สภาพแวดล้อมที่อาจไม่เหมาะสม ผึ้งที่ซื้อมาก็จะอพยพย้ายรัง

  1. วิธีการล่อ ธรรมชาติของผึ้งโพรงไทยจะมีการแยกขยายพันธุ์เมื่อภายในรังมีประชากรหนาแน่นและอพยพย้ายรังผึ้งโพรงไทยจะอพยพย้ายรังไปตามแหล่งอาหารผึ้งในธรรมชาติแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันตามชนิดพืชและปริมาณ การจัดทำรังล่อแล้วไปวางในสถานที่ที่จะมีผึ้งโพรงไทยอพยพ เข้าไปอาศัยในรังล่อที่เตรียมไว้ก็คือช่วงที่เริ่มหมดฤดูฝนและพืชกำลังออกดอก รังล่อผึ้งโพรงไทยอาจทำจากไม้หรือวัสดุอื่นก็ได้รังล่อจะทาด้วยไขผึ้งให้มีกลิ่นไขผึ้ง ด้านหน้ามีรูให้ผึ้งเข้าออกได้

ควรตั้งให้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร – 1 เมตร เพื่อป้องกันศัตรูผึ้ง หมั่นตรวจสอบรังทุก 7 – 10 วัน

  1. วิธีการจับผึ้งเข้าคอน

    • สำรวจพบรังผึ้งที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติหรือในรังล่อควรทำการจับผึ้งเข้าคอนในตอนที่เก็บน้ำผึ้ง ใช้กระป้องพ่นควันเตือนผึ้ง แล้วเปิดรังผึ้งโพรงให้เห็นรวงรัง ตัดรวงผึ้งทีละรวง พร้อมจับนางพญาผึ้งใส่ที่ขัง
    • นำรวงผึ้งตัวอ่อนและดักแด้ และรวงอาหาร 1 รวง มาทาบกับคอนที่ขึงลวดไว้ แล้วใช้มีดบากร่อง ประมาณครึ่งหนึ่ง ของความหนาของรวงตามเส้นลวด และดันเส้นลวดเข้าไป เสร็จแล้วใช้เชือกหรือหนังยางรัดเพื่อป้องกันรวงผึ้งหลุดออกมา
    • นำนางพญาผึ้งที่ขังไว้มาแขวนให้อยู่ระหว่างคอนหนอนกับคอนดักแด้ภายในกล่อง ทำการกอบผึ้งใส่รังใหม่ให้มากที่สุด แล้วตั้งรังใหม่ให้อยู่ใกล้หรือตำแหน่งเดิมของรังเก่า ผึ้งงานจากรังเก่าที่เหลือจะตามเข้าไปอยู่ในรังใหม่ ประมาณ 1 – 2 วัน ผึ้งงานจะซ่อมรวงที่ชำรุดให้ติดกับคอนและคุมเส้นลวดแล้วก็ให้แกะหนังยางที่รัดไว้
    • ถ้าต้องการย้ายรังต้องปิดผึ้งเวลากลางคืนและย้ายไปเลี้ยงในที่ต้องการแล้วเปิดรังเลี้ยงหลังจากขังนางพญาผึ้งประมาณ 2 – 3 วัน ก็จะต้องปล่อยนางพญาผึ้งออกจากที่ขังเพื่อทำหน้าที่วางไข่ต่อไป

ศัตรูของผึ้งและการป้องกัน

ศัตรูของผึ้ง ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น คางคก จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า มด เป็นต้น ป้องกันโดยการกำจัดศัตรูเหล่านั้น และถากถางบริเวณที่ตั้งรังให้สะอาด ไม่ให้มีวัชพืชปกคลุม ศัตรูของผึ้งที่เป็นอันตรายมากก็คือ ยาฆ่าแมลง อาจจะทำให้ผึ้งตายทั้งหมดก็ได้ ป้องกันได้ โดยย้ายกล่องเลี้ยงผึ้งไปตั้งไว้ที่อื่นชั่วคราว

การเก็บน้ำผึ้ง

การเก็บน้ำผึ้งควรเก็บในช่วงที่มีน้ำผึ้งปริมาณมากๆ น้ำผึ้งที่ได้ต้องมีความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 21

  1. การเก็บน้ำผึ้งจากรังส่อ ผึ้งจะสร้างรวงอยู่ใต้ฝารังหงายฝารัง ตัดเอาเฉพาะรวงน้ำผึ้ง ส่วนรวงตัวอ่อนและดักแด้ ให้นำเข้าคอนแล้วเก็บไว้ในรัง นำส่วนที่เป็นน้ำผึ้งมาสับลงบนตะแกรงกรองสแตนเลส เพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมาแล้วกรองน้ำผึ้งให้สะอาด
  2. การเก็บน้ำผึ้งจากรังที่นำรวงผึ้งใส่คอน
    • ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำผึ้งแล้วนำไปสับบนตะแกรง เพื่อให้น้ำผึ้งไหลออกมา แล้วกรองน้ำผึ้งให้สะอาด
    • ในกรณีมีถังสลัด นำรวงที่มีน้ำผึ้งมาปาดไขผึ้งที่ปิดหลอดรวงออกทั้งสองด้านแล้วนำไปใส่ถังสลัดน้ำผึ้ง แรงเหวี่ยงจะทำให้น้ำผึ้งกระเด็นออกมา กรองด้วยที่กรองสแตนเลส

หมายเหตุ : ควรกรองด้วยผ้ากรองอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน แล้วนำไปบรรจุในภาชนะที่สะอาด มีฉลากที่บ่งบอกครบถ้วนและสวยงาม


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.doae.go.th , Youtrube หวนคืนรัง EP เพาะเลี้ยงผึ้งโพรงป่า ในสวนเกษตรผสมผสาน ใครๆก็เลี้ยงได้! ประโยชน์ล้วนๆ


บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง