บทความเกษตร » ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร ประโยชน์และการนำไปใช้งาน

ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร ประโยชน์และการนำไปใช้งาน

27 มีนาคม 2023
1078   0

ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร ประโยชน์และการนำไปใช้งาน

ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร

ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร

ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ขึ้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด หรือด้วยวิธีการอื่น และวัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์จะให้ปริมาณธาตุอาหารพืชน้อย แต่จะให้ธาตุอาหารพืชอย่างครบถ้วนทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม โดยค่อยๆปลดปล่อยให้พืชได้ใช้ และช่วยให้ดินสามารถดูดซับธาตุอาหารพืชไว้ได้สูงทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์

  • ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน หากใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ดินโปร่ง ร่วนซุย มีการระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศดีขึ้น พืชดูดซับน้ำและธาตุอาหารพืชในดินไปใช้ได้มากขึ้น ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
  • เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชครบถ้วนตามที่พืซต้องการ ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม โดยค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้ ๆ และอยู่ในดินได้นาน และเมื่อใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะช่วยส่งเสริมให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  • ช่วยเพิ่มแหล่งอาหารให้แก่จุลินทรีย์ในดิน ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินเพิ่มขึ้น ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้แปรสภาพเป็นธาตุอาหารพืชได้มากขึ้น และจุลินทรีย์บางชนิดช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้ด้วย

ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์

จำแนกได้เป็น 3 ชนิด ตามแหล่งที่มาและการใช้ประโยชน์

1. ปุ๋ยคอก (farmyard manure)

หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งขับถ่ายของสัตว์ หรือมูลสัตว์ต่างๆก่อนนำไปใช้จะต้องหมักไว้ให้เกิดการย่อยสลายก่อน โดยทั่วไปจะมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม อยู่ในปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยทั่วไปจะมีไนโตรเจน ประมาณ 0.5 % ฟอสฟอรัส 0.25 % และโพแทสเซียม 0.5 %

การเก็บรักษาปุ๋ยคอกไม่ควรเก็บในที่มีความชื้นสูง ควรกองเป็นรูปฝาชีอัดให้แน่น เก็บไว้ในที่กันแดดและฝน ถ้าอยู่กลางแจ้งควรหาวัสดุคลุม เพื่อป้องกันการสูญเสียธาตุอาหาร หรือเก็บในหลุมที่ทำด้วยคอนกรีต

2. ปุ๋ยหมัก (composts)

หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการนำเอาเศษซากพืช ชากสัตว์ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรม มาผ่านกระบวนการหมักร่วมกับมูลสัตว์จนย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์ โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ย่อยสลายจนกระทั่งได้สารอินทรียวัตถุสีดำที่มีความคงทนต่อการสลายตัว เรียกว่า “ฮิวมัส”ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยหมัก โดยทั่วไปจะมีค่าอยู่ ระหว่าง 0.4 – 2 %ไนโตรเจน 0.1 – 1 % ฟอสฟอรัส และ 0.6 – 3 % โพแทสเซียม

2.1 ปุ๋ยหมัก ( สูตรของกรมพัฒนาที่ดิน ) การกองปุ๋ยหมักขนาด1 ตัน ขนาดความกว้างกอง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยแบ่งใส่วัสดุ 2 – 3 ชั้น แต่ละชั้นนำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าและโรยยูเรียทับบนชั้นมูลสัตว์และราดสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ที่ผสมน้ำ ในอัตรา 1 ซองต่อน้ำ 20 ลิตร ย่ำให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ชั้นบนสุดปิดทับด้วยเศษพืชป้องกันการสูญเสียความชื้น

2.2 ปุ๋ยหมักเติมอากาศ (นวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร) เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการหมักเศษวัสดุอินทรีย์ ที่มีการระบายอากาศในกองปุ๋ยหมักที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้กิจกรรมการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ คุณภาพของปุ๋ยหมักเติมอากาศขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ที่สำคัญ 2 อย่าง คือ

1. วัสดุอินทรีย์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการหมัก คือ วัสดุที่มีไนโตรเจนสูง สำหรับให้สารอาหารแก่จุลินทรีย์ในกระบวนการหมัก ได้แก่ มูลไก่แกลบหรือมูลไก่เนื้อ มูลสัตว์เคี้ยวเอื้อง และวัสดุที่มีคาร์บอนสูง เช่น เศษพืช ใบไม้ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว ทะลายมะพร้าว ใบมะพร้าว ทะลายปาล์มบด โดยให้มีสัดส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจนใกล้เคียง 30/1 เพื่อให้กระบวนการหมักสมบูรณ์ไม่เกิดการสูญเสียไนโตรเจน และเกิดกลิ่นเหม็นจากการสูญเสียก๊าซแอมโมเนียและก๊าซไข่เน่า หากสัดส่วนมากกว่านี้ จะทำให้กระบวนการหมักเกิดช้า เพราะมีปริมาณนโตรเจนน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของจุลินทรีย์

2. ระบบเติมอากาศ ประกอบด้วย พัดลมอัดอากาศ (Blower) เส้นผ่านศูนย์กลาง10 นิ้ว มอเตอร์ 0.5-1 แรงม้า 2 เครื่อง ช้ระบบไฟฟ้า 220 โวลต์มีตะแกรงเหล็กหรือสแตนเลส 9.5 มิลลิเมตร หนา 4.5 มิลลิเมตร เพื่อรองรับวัสดุและช่วยกระจายลม พร้อมติดตั้งระบบ เปิด – ปิด ด้วยนาฬิกาตั้งเวลาอัตโนมัติ วันละ 6 ครั้ง โดยเปิด ครั้งละ 1 ชั่วโมง และปิดครั้งละ 3 ชั่วิโมง ไม่เปลืองไฟมาก และไม่ต้องกลับกอง

วิธีการผลิต

นำวัตถุดิบที่จะหมักตามสัดส่วนข้างต้นมาผสมน้ำให้ชุ่มประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วย้ายเข้าบ่มในซองหมักที่มีความกว้าง 2.5 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 1.8 เมตร มีความจุ 30 ลูกบาศก์เมตร หลังคากระเบื้องใยหินลูกฟูกเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ลึก 2 เมตร (สามารถปรับขนาดได้ตามความเหมาะสม) ให้อากาศด้วยพัดลมเติมอากาศ วันละ 6 ชั่วโมง จนครบ 30 วัน พ่นน้ำบนกองปุ๋ยหากพบว่าวัสดุบนผิวกองปุ๋ยแห้ง เมื่อหมักครบ 30 วัน ย้ายออกมาลดความชื้นให้ต่ำกว่า 30 % โดยน้ำหนัก ตรวจสอบการย่อยสลายที่สมบูรณ์แล้ว จึงนำไปใช้ในการปลูกพืชต่อไป

การปฏิบัติดูแลรักษา

เพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักที่ดีในเวลาที่เหมาะสม

  • รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย ให้มีความชื้นประมาณ 60 % โดยน้ำหนักตรวจสอบโดยหยิบวัสดุภายในกองปุ๋ยมาบีบดู เมื่อคลายมือออกต้องไม่มีน้ำติดตามฝ่ามือ
  • กลับกองปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มออกชิเจนให้กองปุ๋ยหมักทุก 7 – 10 วัน หรือใช้ระบบเติมอากาศ

ลักษณะปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์

มีสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ มีลักษณะอ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นอุณหภูมิภายในกองปุ๋ยลดลงใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกองปุ๋ยและอาจมีพืชเจริญบนกองปุ๋ย

ปุ๋ยอินทรีย์

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก

  • ข้าว ใช้ 2 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนการปลูกพืช
  • พืซไร่ ใช้ 2 ต้นต่อไร่ โรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน
  • พืชผัก ใช้ 4 ต้นต่อไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน
  • ไม้ผล ไม้ยืนต้น
    • เตรียมหลุมปลูก ใช้ 20 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดินใส่รองกันหลุม
    • ต้นพืชที่เจริญแล้ว ใช้ 20 – 50 กิโลกรัมต่อต้น ขึ้นกับอายุของพืชโดยขุดร่อง ตามแนวทรงพุ่มใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดินหรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม
  • ไม้ตัดดอก ใช้ 2 ตันต่อไร่
  • ไม้ดอกยืนต้น ใช้ 5 – 10 กิโลกรัมต่อหลุม

3. ปุ๋ยพืชสด (green manure)

ปุ๋ยพืชสด

หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการ ตัด สับ หรือไถกลบพืชสดๆส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลถั่วลงในดิน โดยในที่ลุ่มควรปลูกโสนอัฟริกันในที่ตอนควรปลูก ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม และถั่วเขียวระยะเวลาที่เหมาะสมในการไถกลบ คือระยะออกดอกเต็มที่ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 45 – 60 วัน แล้วปล่อยให้เน่าสลายกลายเป็นปุ๋ย จึงปลูกพืชหลักตาม ปริมาณธาตุอาหารที่ได้รับมีค่าอยู่ระหว่าง 1.7 – 3 % ไนโตรเจน 0.2 – 0.4 % ฟอสฟอรัส และ 0.9 – 3.2 % โพแทสเซียม

ข้อจำกัดของปุ๋ยอินทรีย์

  • ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารพืชอยู่น้อย หากต้องการให้พืชได้รับธาตุอาหารที่เท่ากัน เพื่อยกระดับผลผลิตให้ได้เท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมี จะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่มากกว่า เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง และแรงงานในการใส่ปุ๋ยมากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมี
  • การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถปรับแต่งให้ได้สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับดินและพืชได้ เนื่องจากได้มาจากซากพืซและสัตว์ มีความผันแปรของธาตุอาหารพืชต่าง ๆ ในปุ๋ย ในขณะที่ปุ๋ยเคมีสามารถกำหนดปริมาณธาตุอาหารที่ต้องการได้
  • ปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถให้ธาตุอาหารแก่พืชได้ตามช่วงเวลาที่พืชต้องการ เนื่องจากต้องอาศัยการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ในดินและค่อยๆ ปลดปล่อยให้พืชใช้อย่างช้า ๆ
  • ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิดอาจมีโลหะหนักหรือสารพิษปนเปื้อน โดยเฉพาะปุ๋ยหมักที่ทำจากขยะที่รวบรวมจากเมืองใหญ่ หรือวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อพืชดูดขึ้นไปใช้ คนหรือสัตว์ที่บริโภคผลผลิตนั้นอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้

ที่มา | กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง