การเพาะเลี้ยงไรแดง ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์
การเพาะเลี้ยงไรแดง
ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีสำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งปลาสวยงาม และ ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาปอมปาดัวร์ ปลากัด กุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลาบึก ปลาเทโพ ปลาเทพา และ ปลาดุกอุย เป็นต้น ในอดีตไรแดงส่วนใหญ่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำโสโครกตามบ้านเรือน โรงฆ่าสัตว์ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอน ปัจจุบันไรแดง จากธรรมชาติมีปริมาณลดลง เพราะสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนไปในขณะที่ความต้องการไรแดงกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนไรแดงในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกรมประมงได้ศึกษาวิจัยและประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงไรแดง ซึ่งเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนไรแดง และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงไรแดง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ปัจจัยสำคัญต่างๆ ในการเพาะไรแดง
การเพิ่มผลผลิตของไรแดงในบ่อนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการพลังงานจากแสงแดดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ทำให้ขบวนการต่าง ๆ ในภาพ ดำเนินไปด้วยดี ปุ๋ยและอาหารต่างๆ จะถูกย่อยสลายโดยบักเตรี ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการแพร่ขยายของน้ำเขียว อีกทั้งยังทำให้เกิดขบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งจะใช้ของเสียต่างๆจำพวกแอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆ ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ทำให้คุณสมบัติของน้ำดีขึ้น การหมุนเวียนของน้ำจะเพิ่มปริมาณ ออกซิเจนในน้ำซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อไรแดง การเพิ่มปริมาณน้ำเขียวมากขึ้นและการใส่ยีสต์ก็สามารถช่วยในการเพิ่มผลผลิตของไรแดงได้อย่างมหาศาล เช่นเดียวกัน
ประเภทของไรแดง
ไรแดงมีการสืบพันธุ์ 2 แบบ คือ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศและการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยไรแดงจะมีการสืบพันธุ์แบบใดนั้นจะขึ้นกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้นเป็นตัวแปรสำคัญ ดังนี้
- การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ คือ การที่ไรแดงเพศเมียไข่ แล้วฟักเป็นตัวโดยไม่ต้องผสมกับไรแดงเพศผู้ จะเกิดในกรณีที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม โดยปกติไรแดงจะมีอายุอยู่ได้ 4-6 วัน ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่สามารถแพร่พันธุ์ได้ 1-5 ครั้ง หรือเฉลี่ย 3 ครั้งๆ ละ 19-23 ตัว
- การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เป็นการสืบพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ผิดปกติ เช่น อุณหภูมิสูงหรือต่ำ ความเป็นกรดด่าง หรือสภาวะขาดแคลนอาหารในสภาพเหล่านี้ ไรแดงจะเพิ่มปริมาณเพศผู้มากขึ้น และไรแดงเพศเมียจะสร้างไข่อีกชนิดหนึ่งขึ้น ซึ่งต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้ แล้วสร้างเปลือกหุ้มหนา แม่ 1 ตัว จะให้ไข่ ประเภทนี้ 2 ฟอง หลังจากนั้นตัวเมียจะตาย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมไข่จะถูกทิ้งไว้บริเวณกันบ่อ ไข่เปลือกที่เข็งแรงหนาแบบนี้จะช่วยให้ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้นาน และไข่จะฟักออกเป็นตัว ต่อเมื่อมีสภาวะที่เหมาะสมและอาหารที่อุดมสมบูรณ์แล้ว
วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดง
การเพาะไรแดงไม่ว่าเป็นรูปแบบใดต้องเริ่มต้นจากการเตรียมอาหารที่ดีสำหรับไรแดง คือขั้นตอนการเตรียมน้ำเขียว ซึ่งประกอบไปด้วยแพลงก์ตอนพืชที่เป็นอาหารสำคัญของไรแดง การเลี้ยงไรแดงสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งแต่ละรูปแบบมีขั้นตอนและวิธีการเลี้ยง ดังนี้
การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์
วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์ มี 5 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอน ในการปฏิบัติจะมีผลต่อปริมาณ และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ยาวนานขึ้น ดังต่อไปนี้
- ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมบ่อผลิต กรณีบ่อใหม่ (บ่อซีเมนต์ ขนาด 3×3 และ 3×4 เมตร) จะต้องล้างบ่อให้อยู่ โดยแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1-3 สัปดาห์ แล้วระบายน้ำทิ้ง ถ้าต้องการลดระยะเวลาให้ใช้กรดน้ำส้มเทียมผสมน้ำในบ่อดินให้เต็ม แช่ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน แล้วระบายน้ำทิ้ง และเปิดน้ำใหม่แช่ทิ้งไว้อีก 24 ชั่วโมง ส่วนบ่อเก่าต้องล้างบ่อแล้วตากบ่อให้แห้ง พื้นก้นบ่อของบ่อไรแดงควรฉาบและขัดมันเพื่อความสะดวกในการหมุนเวียนของน้ำ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว บ่อซีเมนต์ควรมีทางน้ำเข้าและน้ำออกเพื่อความสะดวกในการเพาะ การล้าง และการเก็บเกี่ยวไรแดง ทั้งนี้การสร้างบ่อซีเมนต์ต้องอยู่กลางแจ้งไม่มีหลังคา
- ขั้นตอนที่ 2 การระบายน้ำ ระดับน้ำที่ใช้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร (เมื่อน้ำเริ่มเขียว หรือลงอาหารไปแล้ว จึงเพิ่มน้ำให้ได้ 60 ซนติเมตร)
- ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมอาหาร น้ำปูนขาวละลายน้ำสาดลงบ่อเพาะไรแดง ปล่อยทิ้ง 1 วัน น้ำปุ๋ย รำ กากน้ำตาล ผสม สาดลงบ่อ เพาะไรแดงแล้วจึงค่อยๆ กวนน้ำในบ่อเพาะทุกวัน เพื่อป้องกันตกตะกอน ประมาณ 3-5 วัน น้ำจึงเริ่มออกสีเขียว
- ขั้นตอนที่ 4 การลงพันธุ์ไรแดง เติมพันธุ์ไรแดง ไรแดง 30-40 กรัมต่อตารางเมตร
- ขั้นตอนที่ 5 การเก็บเกี่ยวผลผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เก็บเกี่ยวเพียงวันละครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดคือ ครั้งแรก วันที่ 3 หรือ 5 หลังจากเติมแม่พันธุ์ไรแดงการเติมอาหาร ให้เติมอาหารหมักที่แล้ว 1 ใน 3 ของครั้งแรกทุกวันโดยสังเกตุปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อ
การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อดิน
บ่อดินที่จะใช้เพาะเลี้ยงไรแดง ควรมีขนาดประมาณ 200-800 ตารางเมตร โดยวิธีดำเนินการดังนี้
- กำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการภายในบริเวณบ่อและศัตรูต่างๆ ของไรแดงประมาณ 2 วัน
- กรองน้ำลงบ่อให้มีระดับน้ำสูงจากพื้นบ่อประมาณ 25 40 เซนติเมตร พร้อมกับเติมปุ๋ยและอาหารลงไป สูตรอาหารที่ใช้มีดังนี้
ถ้าไม่มีอามิ-อามิ ให้ใช้ มูลไก่ประมาณ 80 กก./800 ตารางเมตร แล้วใส่น้ำเขียวประมาณ 2 ตัน ถ้าไม่มีน้ำเขียวก็หมักทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน - เมื่อน้ำในบ่อมีสีเขียวแล้วให้เติมเชื้อไรแดงอย่างดีประมาณ 2 กิโลกรัม
- เริ่มเก็บเกี่ยวไรแดงได้ใน วันที่ 4-7 ควรเก็บเกี่ยวไรแดงให้ได้มากที่สุด (ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเข้าก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นจะเก็บเกี่ยวได้สะดวกและได้ปริมาณมาก) หลังจากนั้นไรแดงจะเริ่มลดลง จึงควรเติมอาหารลงไป อาหารที่ควรเดิมในระยะนี้วรจะเป็นพวกย่อยสลายเร็ว เช่น น้ำถั่วเหลือง น้ำเขียว รำ เลือดสัตว์ ปียวิทยาศาสตร์และปุ้ยคอกเป็นต้น โดยเติมอาหารลดไปจากเดิมครึ่งหนึ่ง ไรแดงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกภายใน2-3 วัน และจะกลับลดลงไปอีกก็ให้เติมอาหารลงไปเท่ากับครั้งที่ 2 ในกรณีนี้การเกิดไรแดงจะลดจำนวนลงมากถึงจะเติมลงไปอีก
วิธีการทำน้ำเขียวสำหรับเลี้ยงไรแดง
หัวเชื้อน้ำเขียวเกิดจาก น้ำไปโดนแสงแดดจัด เช่นน้ำที่เลี้ยงปลาที่เกิดจากการตากแดด สามารถนำมาเป็นหัวเชื้อน้ำเขียวได้ครับ หลังจากหาได้แล้วมาเริ่มขั้นตอนการทำหัวเชื้อน้ำเขียว สำหรับเลี้ยงไรแดง
- อามิอามิ (กากผงชูรส) หรือ , กากน้ำตาล สามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งทดแทนกันได้
- ปุ๋ยยูเรีย
- ปุ๋ยนา สูตร -15-15-15 ถ้าไม่มีปุ๋ยนาสูตรทั่วไปสามารถทดแทนกันได้
- อาหารปลาดุก หรือ รำละเอียด หรือ ปลาป่น อย่างใดอย่างหนึ่งสามารถทดแทนกันได้ (ปูนขาว ใส่ก็ได้ ไม่ใสก็ได้)
ขั้นตอน การทำน้ำเขียว
นำส่วนผสมทั้งหมด อย่างละเท่าๆกัน 1 แก้ว ประกอบไปด้วย
- กากน้ำตาล 1 แก้ว
- ปุ๋ยยูเรีย 1 แก้ว
- ปุ๋ยนา 1 แก้ว
- รำละเอียด 1 แก้ว
- ปูนขาว 1 แก้ว
นำทั้งหมด ผสมให้เข้ากัน หลังจากนั้น เตรียมน้ำที่จะทำน้ำเขียว พยายามเอาบ่อไว้กลางแดดจัดๆ เตรียมน้ำ เปล่าสะอาดไว้ 1/4 ของบ่อ แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดที่เตรียมไว้ กรองผ่านที่ตักปลาหรือกระช้อนลงบน บ่อที่เตรียมจะทำน้ำเขียว
หลังจากนี้ รอประมาณ 2-3 วัน น้ำจะเริ่ม เขียว ระหว่างนี้ พยายามขนน้ำปล่อยๆ ตามเวลาที่ว่างครับพอน้ำเริ่มเขียวได้ที่มีกลิ่นแอมโมเนียฉุนๆ ให้เติ่มน้ำให้เต็มบ่อที่ทำน้ำเขียว หรือ 3/4 ของบ่อ หลังจากนั้นรออีกประมาณ 1-2 วัน กลิ่น แอมโมเนียจะเริ่มหายหาหัวเชื้อไรแดง มาปล่อยลงได้เลย มีเท่าไร ใส่เท่านั้นไม่ต้องใส่เยอะก็ได้ ใช้เวลาหลังจากที่ปล่อยหัวเชื้อไรแดงลงไปในบ่อที่ทำน้ำเขียวไว้ 2-3 วัน ไรแดงจะเต็มบ่อครับ น้ำจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล
การนำไรแดงมาใช้ประโยชน์
การนำไรแดงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไรแดงที่ได้จากบ่อผลิตในลักษณะนี้จะมีเชื้อโรคที่ทำอันตรายกับสัตว์น้ำน้อยกว่าไรแดงที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติแต่เพื่อความมั่นใจจึงควรล้างด้วยสารละลายด่างทับทิม 0.1 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะได้สารละลายสีชมพูอ่อน สารละลายนี้จะเพิ่มออกชิเจนให้กับไรแดงและน้ำด้วย เพราะด่างทับทิมเมื่อละลายน้ำจะให้ออกซิเจนในน้ำ
สำหรับปริมาณไรแดงที่ใช้ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้ใช้ในปริมาณ 500-800 กรัม/ลูกปลา จำนวน 100,000 ตัว/วัน โดยแบ่งอาหารให้ 4-5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-6 ชั่วโมง ระวังอย่าให้มีลูกไรแดงเหลือลอยอยู่เพราะลูกไรแดงส่วนมากจะตาย หมักหมมอยู่บริเวณพื้นบ่อ การอนุบาลลูกปลาตั้งแต่ไข่แดงยุบในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จะทำให้ได้ลูกปลาดุกอุยขนาดเฉลี่ย 2 เชนติเมตร ในการอนุบาลปลา อาจใช้อาหารสำเร็จรูป เมื่อลูกปลามีอายุได้ 8-10 วัน โดยให้พร้อมกับไรแดงแล้วค่อยๆ ลดปริมาณไรแดงลงและเพิ่มปริมาณอาหารสำเร็จรูป จนกระทั่งลูกปลาสามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ทั้งหมด
ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงไรแดง
ไรแดงสดที่มีชีวิตจะมีราคาสูง ก็โลกรัมละ 80 – 100 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและไรแดงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่มีปริมาณน้อยลง เนื่องจากแหล่งเกิดไรแดงตามธรรมชาติลดลง แต่ความต้องการไรแดงเพิ่มขึ้น คาดว่าการผลิตไรแดง เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง
เอกสารอ้างอิง
- จิรศักดิ์ ตั้งตรงไพโรจน์. 2542. คลีนิคสัตว์น้ำ : การผลิตไรแดงเพื่อนุบาลสัตว์น้ำ
- วัย อ่อน (จบ ). มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 11 ฉบับที่ 219. หน้า 75-76.
- ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนราธิวาส. 2559. การเพาะเลี้ยงไร แดง.
- ศุภชัย นิลวานิช. 2541. เทคโนโลยีการประมง. เพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อดิน งานเสริมรายได้ของเฮีย ตี๋ นครชัยศรี. มติชนบท เทคนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 11 ฉบับที่ 203. หน้า 71-72.
- สำรวจ เสร็จกิจ. 253 1. การทดลองผลิตไขไรแดง. วารสารการประมง ปีที่ 41 ฉบับที่ 5. หน้า 481- 483.
- สันทนา ดวงสวัสดิ์. 2529. ชีวประวัไรแดง. วารสารการประมง ปีที่ 34 ฉบับที่ 5. หน้า 553-557
- เอกสารเผยแพร่ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง.2549. การเพาะเลี้ยงไรแดง. กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- http://www.lovebettafish.com/วิธีการทำน้ำเขียวสำหรับเลี้ยงไรแดง และการเพาะขยายพันธุ์ไรแดง
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง