บทความเกษตร » การเพาะเลี้ยงกบนา เลี้ยงง่ายแข็งแรงโตไว

การเพาะเลี้ยงกบนา เลี้ยงง่ายแข็งแรงโตไว

16 มกราคม 2023
963   0

การเพาะเลี้ยงกบนา เลี้ยงง่ายแข็งแรงโตไว

การเพาะเลี้ยงกบนา

การเพาะเลี้ยงกบนา


กบ (Rana rugulosa) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลำตัวค่อนข้างกลมรี มีขา 2 คู่ คู่หน้าสั้น คู่หลังยาว หัวมีส่วนกว้างมากกว่าความยาว จะงอยปากสั้นทู่จมูกตั้งอยู่บริเวณโค้งตอนปลายของจะงอยปาก นัยนัตาโต และมีหนังตาปิดเปิดได้ สีของลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียวปนน้ำตาลมีจุดสีดำกระจายเป็นประอยู่ทั่วตัว ตามธรรมชาติกบจะหากินอยู่ตามลำห้วยหนอง บึง และท้องนา กบจะกินปลา กุ้ง แมลง และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร

แต่เนื่องจากสถานการณ์ความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีอัตราประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และปริมาณความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติหรือแม้แต่ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง แต่สำหรับการเลี้ยงกบนานั้น ปัจจุบันเป็นที่สนใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อยลงทุนน้อย ดูแลรักษาง่าย และจำหน่ายได้ราคาคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะในปัจจุบันมีตลาดต่างประเทศที่ต้องการสินค้ากบเปิดกว้างมากขึ้น กบนาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรเมืองไทยจึงมีโอกาสส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เลี้ยงกบหลายรายก็ต้องประสบความล้มเหลวในการเพาะเลี้ยงกบ อันเนื่องจากการไม่เข้าใจการเลี้ยง โดยเฉพาะไม่เข้าใจในอุปนิสัยใจคอของกบซึ่งมีความสำคัญเพื่อประกอบการเลี้ยง เช่น กบมีนิสัยดุร้ายและชอบรังแกกัน การเลี้ยงกบคละกันโดยไม่คัดขนาดเท่าๆ กัน ในบ่อเดียวกัน เป็นเหตุให้กบใหญ่รังแกและกัดกินกบเล็กเป็นอาหาร

สายพันธุ์กบที่ควรเลี้ยง

กบที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ กบพันธุ์พื้นเมือง และกบพันธุ์ต่างประเทศ ดังนี้

1. กบพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ กบนา กบจาน และกบภูเขาหรือเขียดแลว

กบนา เป็นกบที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และนิยมเลี้ยงมากที่สุด จัดเป็นกบขนาดกลางเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 4 นิ้ว มีน้ำหนักตัวประมาณ 200-250 กรัม (ประมาณ 4-6 ตัว/กก.) ผิวสีน้ำตาลปนดำอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามแหล่งที่อยู่อาศัย

กบจาน เป็นกบขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ 5 นิ้ว ขนาดประมาณ 250 กรัม(ประมาณ 4 ตัว/กก.) กบจานจะมีรูปร่างคล้ายๆ กับกบนาแต่ผิวมีสีน้ำตาลปนเขียว อาจจะแตกต่างกันบ้างตามแหล่งที่อยู่อาศัย

กบภูเขาหรือเขียดแลว เป็นกบพื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวโตเต็มที่ขนาดประมาณ 3 กก. ลักษณะโดยทั่วไปคือ ปลายนิ้วโป้งขาหน้าแยกออกจากกัน ผิวหนังด้านข้างไม่นูนโป่งไม่มีถุงลม ไม่มีแผ่นหนังที่นิ้วขาหน้าอันแรก ซึ่งยาวกว่านิ้วอันที่สอง แก้วหูห่างจากตาเป็นระยะทางมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของตา กบเพศผู้จะมีเขี้ยวออกจากขากรรไกรล่างยื่นยาว ส่วนเพศเมียจะสั้นกว่า มีตาโต

2. กบพันธุ์ต่างประเทศ เป็นกบที่มีบทบาทอย่างมากในประเทศไทย คือ

กบบูลฟร็อก เป็นกบที่มาจากบริเวณภูเขาร็อกกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวโตเต็มที่มีน้ำหนักมากว่า 1 กก. มีความยาวถึง 8 นิ้ว ลำตัวกว้างมีส่วนหัวและส่วนหน้าเป็นสีเขียว ส่วนของเยื่อหูโตกว่าตา ส่วนหลังมีสีน้ำตาลเขียว ส่วนท้องมีสีขาวเหลืองผิวหนังขรุขระมีปุ่มขนาดเล็กๆ อยู่ที่ส่วนหลัง ไม่มีสันข้างลำตัว แต่จะมีสันตรงด้านหลังของแก้วหู อุปนิสัยของกบชนิดนี้คือ เลี้ยงง่าย โตวัย น้ำหนักดี เมื่อโตเต็มที่หนักได้ถึง 400 กรัม/ตัว โดยเลี้ยงเพียงแค่ 7 เดือน

การเลือกสถานที่สร้างคอกกบ

  • ควรอยู่ใกล้กับที่พักอาศัย เพราะสามารถจัดการดูแลรักษาได้ง่ายและปลอดภัยจากขโมย
  • ควรอยู่บนพื้นที่ดอน เพื่อป้องกันปัญหา น้ำท่วม
  • ควรอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำที่สะอาดและเพียงพอสำหรับการ การเลี้ยงกบ
  • ควรอยู่ห่างไกลจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน
  • ในกรณีที่ไม่ได้ทำการเพาะพันธุ์กบเพื่อเลี้ยงเอง ควรเลือกอยู่ใกล้แหล่งที่สามารถจัดหาลูกกบได้ง่
  • อยู่ใกล้แหล่งอาหารเลี้ยงกบ เพื่อสะดวกในการจัดหาอาหาร
  • อยู่ในแหล่งที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วน เช่น ถนน ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่น ๆ
  • อยู่ใกล้กับแหล่งตลาด เพื่อรองรับผลผลิต
  • อยู่ในท้องถิ่นที่มีประชาชนที่มีอัธยาศัยที่ดี เพื่อความปลอดภัยจากเหล่ามิจฉาชีพ

บ่อหรือคอกที่ใช้ใน การเพาะเลี้ยงกบนา

สถานที่ที่จะทำบ่อเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ่อปูนหรือคอกเลี้ยง จะต้องไม่ควรอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยมากนัก เพราะศัตรูของกบมีมาก โดยเฉพาะกบนั้นเมื่อตกใจเพราะมีภัยมา มันจะไม่ส่งเสียงร้องให้เจ้าของรู้เหมือนสัตว์อื่นๆ ศัตรูของกบส่วนมากได้แก่ งู นก หนู หมา แมว และที่สำคัญที่สุดได้แก่ คน ดังนั้นถ้าบ่อเลี้ยงหรือคอกเลี้ยงกบ อยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยมาก ก็จะถูกคนขโมยจับกบไปขายหมด นกนั้นมีทั้งกลางวันและกลางคืน นกกลางคืนโดยเฉพาะนกเค้าแมวสามารถลงไปอยู่ปะปนและจับกบกินอย่างง่ายดาย แมวนับว่ามีส่วนทำลายกบมากเพราะถึงแม้มันจะจับกบกินเพียงตัวเดียวแล้วก็อิ่ม แต่เมื่ออิ่มแล้วมันยังจับกบตัวอื่นๆ มาหยอกเล่น และ ทำให้คบตายในที่สุด

การเพาะเลี้ยงกบนา

เทคนิค การเพาะเลี้ยงกบนา

รูปแบบการเลี้ยง

ในปัจจุบันการเลี้ยงกบเชิงพาณิชย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกบจะนิยมเลี้ยงอยู่ 3 แบบ คือ

1 การเลี้ยงกบในบ่อดิน

ใช้พื้นที่ประมาณ 100-200 ตารางเมตร ภายในบ่อลึกประมาณ 1 เมตร บางแห่งอาจทำเกาะกลางบ่อเพื่อเป็นที่พักของกบและให้อาหาร ส่วนพื้นที่รอบๆ ขอบบ่อภายในล้อมด้วยอวนในล่อนสูงประมาณ 1 เมตร ปล่อยให้หญ้าขึ้นเพื่อให้กบใช้เป็นที่หลบอาศัย ขอบบ่อด้านในที่ล้อมด้วยอวนในล่อน ด้านล่างจะใช้กระเบื้องหรือแผ่นสังกะสีฝังลึกลงดินประมาณ 50 เชนติเมตร เพื่อป้องกันศัตรูบางชนิด เช่น หนูขุดรูเข้าไปกินลูกกบได้ อัตราการปล่อยเกษตรกรจะปล่อยลูกกบลงเลี้ยงประมาณ 30,000 ตัว/บ่อ (100 ตารางเมตร)

ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้มีข้อดี คือ การจัดการง่าย ต้นทุนต่ำได้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงแต่มีข้อจำกัดคือ เป็นการเลี้ยงแบบหนาแน่น สภาพในบ่อจะไม่ค่อยสะอาด เนื่องจากมีของเสียตกค้างอยู่ภายในบ่อผลผลิตกบที่ได้จะจำหน่ายภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

2 การเลี้ยงกบนกระชัง

กระชังที่ใช้เลี้ยงเกษตรกรนิยมใช้อวนในล่อนเนื่องจากต้นทุนถูก ขนาดของกระชังนิยมขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.5 เมตร จะแขวนอยู่ในบ่อดิน ขนาด 1-3 ไร่ หรือแหล่งน้ำต่างๆ โดยจะแขวนจะให้กระชังจมอยู่ในน้ำประมาณ 50 เชนติเมตร แล้วใส่วัสดุ เช่น แผ่นโฟมเนื้อแน่นลอยอยู่ในกระชัง เพื่อใช้เป็นที่ให้กบขึ้นมาอาศัยและวางถาดอาหาร การเลี้ยงกบในกระชังหากมีปัญหามีนกมากินลูกกบ เกษตรกรจะต้องทำฝาปิดกระชังโดยใช้อวนในล่อนด้วย อัตราปล่อยลูกกบจะนิยมปล่อย50-100 ตัว/ตารางเมตร อัตราความหนาแน่นจะมีผลต่ออัตรารอดตายของกบ เนื่องจากสภาพการเลี้ยงในกระชัง ซึ่งเป็นพื้นที่แคบ หากปล่อยกบในความหนาแน่นมากเกินไป อาจทำให้กบเป็นโรคและตายได้

ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้มีข้อดี คือ จะได้ผลผลิตกบที่มีคุณภาพ สามารถส่งออกไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศได้ เนื่องจาก สามารถจัดการสภาพแวดล้อมของการเลี้ยงได้ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงกบ เพื่อให้น้ำมีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง แต่มีข้อจำกัด คือ ต้นทุนการจัดการจะสูงเนื่องจากต้องใช้แรงงานในการดูแลมากกว่าการเลี้ยงกบในบ่อดิน

3 การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์

การเลี้ยงแบบนี้เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน เพราะดูแลรักษาง่าย และสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตกบได้ โดยมีการพัฒนารูปแบบให้สามารถทำความสะอาดได้สะดวกมากขึ้น เช่น ปูพื้นบ่อด้วยกระเบื้องปูพื้นผิวเรียบ ทำให้มีการสะสมของเชื้อโรคที่พื้นบ่อน้อยลง ขนาดบ่อที่เกษตรกรนิยมใช้ คือ กว้าง 3-4 เมตร ยาว 4-5 เมตร และมีความสูงประมาณ 1.2 เมตร ก่อด้วยอิฐบล็อก เทพื้นด้วยซีมนต์ขัดมัน หรือปูพื้นด้วยกระเบื้องผิวเรียบ มีความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้หมด หลังคาบ่ออาจใช้กระเบื้องลอนคู่มุงบ่อประมาณ 25-50% ของพื้นที่บ่อ หรือจะใช้ม่านบังแสงที่ใช้ในเรือนเพาะชำต้นไม้ เพื่อป้องกันแสงแดดไม่ให้ส่องลงมามากเกินไป บ่อซีเมนต์ที่ใช้เลี้ยงกบ เกษตรกรนิยมอยู่ 2 แบบ คือ

3.1. บ่อแบบพื้นลาดเอียง ลักษณะภายในบ่อจะเทพื้นลาดเอียงประมาณ 25 องศา เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดีและใช้วัสดุลอยน้ำจำพวกโฟมเนื้อแน่นพิเศษ หรือใช้ไม่ไผ่ทำเป็นแคร่ หรือวัสดุอื่นๆ วางอยู่ที่ผิวน้ำ เพื่อให้กบขึ้นมาอาศัยและวางถาดอาหาร

3.2. บ่อแบบที่มีเกาะกลาง ลักษณะบ่อเป็นแบบเดียวกับแบบแรก แต่มีเกาะชีเมนต์อยู่ตรงกลาง โดยตัวเกาะจะอยู่ห่างจากผนังบ่อ ประมาณ 50-70 เซนติเมตร เกาะตรงกลางควรมีการขัดผิวให้มัน เพื่อให้กบขึ้นมาพักผึ่งแดดและวางถาดอาหาร แต่ลักษณะบ่อแบบนี้จะทำความสะอาดยากกว่าบ่อแบบแรก

บ่อซีเมนต์ใหม่ๆ ควรจะมีการล้างปูนชีเมนต์เสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปูนกัดผิวหนังของกบทำให้เป็นแผลติดเชื้อได้ วิธีการล้างควรทำดังนี้ ให้ใช้หยวกกล้วยหั่นเป็นท่อนๆ ใส่ลงในบ่อซีเมนต์ที่เติมน้ำในระดับที่ต้องการทิ้งไว้ 7-14 วัน โดยเปลี่ยนหยวกกล้วยทุกวันหรือควรใช้สารส้ม ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ1 ลูกบาศก์เมตร แช่ทิ้งไว้ 3-4 วัน และระบายน้ำทิ้งและทำซ้ำอีกครั้งจนมั่นใจ หลังจากนั้นตากบ่อให้แห้งก่อนที่จะทำการเลี้ยงต่อไป สำหรับอัตราปล่อย ควรปล่อยกบในอัตรา 50 ตัว/ตารางเมตร แต่ถ้าเป็นบ่อที่ใช้ระบบน้ำผ่านตลอดเวลา ก็สามารถปล่อยกบในอัตรา 100 ตัว/ตารางเมตร (เฉิดฉันและคณะ,2538)

ลักษณะการเลี้ยงแบบนี้ จะมีข้อดีและข้อจำกัดเหมือนกับการเลี้ยงกบในกระชัง เหมาะสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกบที่มีพื้นที่จำกัด หรือไม่ประสงค์จะขุดบ่อเพื่อรักษาสภาพพื้นที่ดินไว้เหมือนเดิม

การคัดพ่อ-แม่พันธุ์

  • แม่พันธุ์ตัวที่มีไข่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และจะมีปุ่มสากข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง เมื่อเราใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และแม่พันธุ์ตัวที่พร้อมมากจะมีปุ่มสากมากแต่เมื่อไข่หมดท้องปุ่มสากนี้ก็จะหายไป
  • การคัดเลือกพ่อพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องเสียงดังและกล่องเสียงที่ใต้คางก็จะพองโปน ลำตัวจะมีสีเหลืองเข้มและเมื่อเราใช้นิ้วสอดที่ใต้ท้อง มันจะใช้เท้าหน้ากอดรัดนิ้วเราไว้แน่น

การผสมพันธุ์

ปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้แล้ว โดยใช้อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย จำนวน 1:1 ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. และจะต้องทำการปล่อยให้กบผสมกันในตอนเย็น เมื่อปล่อยกบลงไปแล้วจึงเปิดฝนเทียมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กบจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลา ประมาณ 17.00 น. – 22.00 น. ซึ่งภายในบ่อเพาะต้องมีท่อให้น้ำลันออกด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไป กบจะจับคู่ผสมพันธุ์และจะปล่อยไข่ตอนเช้ามืด

การเพาะเลี้ยงกบนา

การพัฒนาและการดูแลลูกกบ

ไข่กบนาที่ถูกผสมจะฟักเป็นลูกอ็อดภายใน 2 วัน โดยในระยะ 2-3 วันแรก หลังจากที่ฟักออกเป็นตัวไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากลูกอ๊อดยังมีถุงไข่แดง (ถุงอาหารสะสม) ที่ติดมากับท้องเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตนเอง หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารลูกอ๊อดครั้งแรกเมื่ออายุ ๆ วัน โดยให้รำละเอียดและปลาป่นในอัตราส่วน 3 : 1 ในกรณีที่มีลูกอ๊อดเป็นจำนวนมากอาจเสริมด้วยการให้ไรแดง เมื่อลูกอ๊อดโตขึ้นใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปโรยให้กิน การให้อาหารควรให้ทีละน้อย และวางไว้ตลอดเวลาเพราะลูกอ๊อดจะกินอาหารตลอดวัน ถ้าลูกอ็อดขาดอาหารจะกินกันเอง ลูกอ๊อดที่มีอายุ 20-30 วัน จึงเป็นลูกกบเต็มวัย ในช่วงนี้ต้องเตรียมไม้กระดาน ทางมะพร้าวหรือแผ่นโฟม ลอยน้ำเพื่อให้ลูกกบเต็มวัยขึ้นไปอาศัย จากนั้นคัดขนาดลูกกบที่มีขนาดเท่าๆ กันไปเลี้ยงไว้ในบ่อเดียวกันเพื่อไม่ให้ลูกกบกัดกินกันเองโดยระดับน้ำในบ่อเลี้ยง สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร อัตราการปล่อยลูกกบเต็มวัยลงเลี้ยงเป็นกบรุ่นเพื่อส่งตลาดจะปล่อยในอัตรา 50-100 ตัว/ตารางเมตร

การให้อาหารกบ

  • ระยะลูกอ๊อด หางหดที่มี 4 ขา เจริญครบสมบูรณ์เรียก ระยะเริ่มขึ้นกระดาน จะให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดเล็กพิเศษ ที่ใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุกเล็กหรือปลาสดบดละเอียดผสมรำ ที่เกษตรกรผลิตขึ้นเองในอัตรา 3-5 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวรวม วิธีฝึกให้ลูกกบกินอาหาร เมื่อลูกกบอายุประมาณ 2 เดือน ควรให้อาหารเป็นเวลา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ในอัตรา 3-5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักต่อวัน อาหารควรมีโปรตีนอยู่ระหว่าง 28-35 เปอร์เซ็นต์ ชนิดและขนาดของอาหารขึ้นอยู่กับขนาดของกบที่เลี้ยง ถ้าผู้เลี้ยงกบนาอยู่ใกลับริเวณที่สามารถหาปลาสดได้อาจให้ปลาสดบดหรือสับเป็นชิ้นวางในภาชนะปริ่มน้ำ หรือเหนือน้ำหรือใช้ปลาสดบดผสมรำในอัตราส่วน 3 : 1 หรือให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่ใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุก

อาหารกบ

  • ระยะลูกอ๊อดอายุ 3-6 วัน ให้ไข่ตุ๋นหรืออาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน โปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ ชนิดผงหรือเม็ดผสมน้ำปั้นเป็นก้อน วางกระจายให้ทั่ว
  • ระยะลูกอ๊อดอายุ 6-20 วัน ให้อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน โปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ ชนิดเม็ดลอยน้ำ ให้กินวันละ 3-4 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 6 ของน้ำหนักตัวต่อวัน)
  • ระยะกบอายุ 20-40 วัน ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบเล็กให้กินวันละ 3 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว)
  • ระยะกบอายุ 40-70 วัน ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบรุ่นให้กินวันละ 2 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 3-4 ของน้ำหนักตัว)
  • ระยะกบอายุ 70 วัน ระยะจับขาย ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบใหญ่ ให้กินวันละ 2 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 2-3 ของน้ำหนักตัว)
  • ระยะกบพ่อแม่พันธุ์ ให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอาหารกบขนาดใหญ่ ให้กินวันละ 2 ครั้ง (ประมาณร้อยละ 2-3 ของน้ำหนักตัว)

การถ่ายเทน้ำ

การเลี้ยงกบในน้ำสะอาดจะทำให้กบมีการเจริญเติบโตที่ดีดังนั้นถ้าบริเวณที่เลี้ยงมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ควรถ่ายเทน้ำทุกวันหรือใช้การหมุนเวียนให้น้ำไหลผ่านในระบบน้ำลันตลอดเวลา แต่ถ้าแหล่งน้ำไม่อุดมสมบูรณ์อาจจะถ่ายเทน้ำเมื่อสังเกตว่าน้ำเริ่มมีกลิ่นเน่าเสีย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่ใช้เลี้ยงกบด้วย

การจับกบจำหน่าย

เนื่องจากสภาพบ่อเลี้ยงกบมีความแตกต่างกัน ทำให้ความสะดวกในการดูแลรักษาย่อมแตกต่างกันดังกล่าวแล้ว ยังรวมไปถึงการจับกบจำหน่ายก็แตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือ

  • การเลี้ยงกบในบ่อดิน ลักษณะการเลี้ยงกบแบบนี้จะจับกบจำหน่ายได้ครั้งเดียวในเวลาที่พร้อมกัน ไม่มีการจับกบจำหน่ายปลีก หรือเป็นครั้งคราวทั้งนี้เพราะสภาพบ่อเลี้ยงไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้จะเป็นการจับเพียงครั้งเดียวให้หมดบ่อจะต้องใช้ผู้จับหลายคนลงไปในบ่อเลี้ยงที่มีสภาพโคลนตมและต้องเก็บพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ขึ้นให้หมดก่อน จึงต้องใช้เวลาและแรงงานมากที่จะเที่ยวไล่จับกบในที่หลบซ่อนให้หมดในครั้งเดียว
  • การเลี้ยงกบในคอก สามารถจับกบไต้ทุกโอกาสไม่ว่าจะจับทมดทั้งคอกหรือมีการจำหน่ายปลีก โดยมีกระบะไม้และทำเป็นช่องเข้าออกในด้านตรงกันข้ามวางอยู่หลายอันบนพื้นดินภายในคอก ซึ่งกบจะเข้าไปอาศัยอยู่ เมื่อถึงเวลาจะจับกบ ก็ใช้กระสอบเปิดปากไว้รถอยู่ที่ช่องด้านหนึ่งแล้วใช้มือล้วงเข้าไปในช่องด้านตรงข้าม กบจะหนีออกอีกช่องทางหนึ่งที่มีปากกระสอบรอรับอยู่และเข้าไปในกระสอบกันหมด เป็นการกระทำที่สะดวก กบไม่ตกใจและบอบช้ำ
  • การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สามารถจับกบได้ทุกโอกาสไม่ว่าจะจับหมดทั้งบ่อหรือจับจำหน่ายปลีก โดยใช้คนเพียงคนเดียวพร้อมทั้งสวิงเมื่อลงในบ่อซึ่งมีน้ำเพียง 1 ฟุต กบจะกระโดดลงไปมุดอยู่ในน้ำ จึงใช้สวิงช้อนขึ้นมาหรือใช้มือจับใส่สวิงอย่างง่ายดาย ในบ่อหนึ่งๆ ขนาด 12 ตารางเมตร เลี้ยงกบประมาณ 1,000 ตัว ใช้คนๆ เดียวจับเพียง 1 ชั่วโมงก็แล้วเสร็จ

อนึ่ง การเลี้ยงกบควรคำนึงถึงระยะเวลาเลี้ยงควบคู่ไปกับระยะเวลาที่จะจับกบจำหน่าย เนื่องจากในฤดูฝน กบจะมีราคาถูก ถ้าผู้เลี้ยงจะต้องจับกบจำหน่ายในช่วงนี้ ก็จะได้รับผลตอบแทนน้อย แต่ถ้ากะเวลาเลี้ยงและเวลาจับจำหน่ายให้ถูกต้อง คือ เมื่อรู้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงกบนาน 4 เดือน จึงต้องกะระยะเวลาเดือนที่ 4 ให้ตรงกับอยู่ในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูร้อน เพราะในช่วงนี้กบราคาแพง ผู้เลี้ยงสามารถขายได้ในราคาที่ดีคุ้มกับการลงทุน อีกทั้งผู้ที่ต้องการจำหน่ายปลีก ควรจะติดต่อตกลงราคาและจำนวนกับผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นตลาดสดหรือร้านอาหารให้เป็นที่แน่นอนก่อนจึงจะจับกบไปส่งจำหน่าย

โรคกบ

ปัญหาโรคที่เกิดขึ้นนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความผิดพลาดทางด้านการเลี้ยงและการจัดการ ทำให้มีการหมักหมมของเสียต่างๆ เกิดขึ้นในบ่อ โดยเฉพาะการเลี้ยงกบในปัจจุบันมักจะเลี้ยงกันอย่างหนาแน่น มีการให้อาหารมากประกอบกับการขาดความเอาใจใส่ และไม่เข้าใจในเรื่องความสะอาดของบ่อรวมถึงน้ำที่เลี้ยง โอกาสที่กบจะเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจึงมีมากขึ้น ซึ่งโรคกบที่พบทั่วไป ได้แก่

โรคติดเชื้อแบคทีเรีย

1. โรคติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่ทำความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงกบมากที่สุดทั้งในระยะที่เป็นลูกอ๊อดและระยะเต็มวัยซึ่งบางครั้งก็พบทั้งในกบขนาดเล็กและขนาดใหญ่องค์ประกอบที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากหรือน้อยคือ สายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Aromonas และ Pseudomonas และช่วงระยะของกบที่เป็นโรค อาการของโรคที่พบ ทั่วไปได้แก่ การเกิดแผลที่มีลักษณะเป็นจุดแดงๆ ตามขาและผิวหนังตามตัวโดยเฉพาะด้านท้องจนถึงแผลเน่าเปื่อยบริเวณปาก ลำตัว และขา เป็นต้น เมื่อกบเป็นโรคควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกชิเททราไซคลินผสมอาหารให้กบกินในอัตรา 3-5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมต่อวัน กินติดต่อกันจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือให้กินไม่น้อยกว่าครั้งละ 5-7 วัน

2. โรคที่เกิดจากโปรโตซัวในทางเดินอาหาร โดยทั่วไปจะพบในกบเล็กมากกว่ากบโต อาการทั่วไปจะพบว่ากบไม่ค่อยกินอาหาร ผอม ตัวซีด การติดเชื้อโปรโตซัวในทางเดินอาหารนี้ถ้าเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะทำให้กบตายได้ การป้องกันควรใช้พืชผักเช่น ผักบุ้ง กะเพรานำไปลวกพอนิ่มแล้วให้เป็นอาหารเสริมจนกว่ากบจะมีอาการดีขึ้นและกินอาหารตามปกติ

3. โรคท้องบวม โดยทั่วไปจะเกิดกับลูกอ็อดในฟาร์มที่ใช้น้ำบาดาล การเปลี่ยนน้ำอย่างรวดเร็วโดยใช้น้ำบาดาลที่ไม่ได้พักไว้ก่อน จะทำให้ความดันก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำลดต่ำลงอย่างเฉียบพลัน มีผลให้ร่างกายของลูกอ๊อดต้องปรับความดันก๊าซในตัวเองลงมาให้เท่ากับความดันของก๊าซในน้ำ ทำให้เกิดฟองก๊าซขึ้นในช่องว่างของลำตัว ท้องลูกอ๊อดจึงบวมขึ้นมา จึงควรป้องกันโดยระมัดระวังในเรื่องการถ่ายน้ำอย่าเปลี่ยนน้ำในปริมาณมากๆในเวลาสั้นๆ และควรจะมีการพักน้ำและเติมอากาศให้ดีก่อนนำมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบาดาล

โรคตาขุ่นและตัวเอียง
4. โรคตาขุ่นและตัวเอียง
โดยทั่วไปพบกับกบทุกระยะการเจริญเติบโตเนื่องจากติดเชื้อโรคซึ่งพบว่ายาปฏิชีวนะให้ผลในการรักษาต่ำ วิธีการป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยกำจัดกบที่มีลักษณะอาการตาขุ่นหรือคอเอียงโดยนำไปเผาหรือฝั่งดินเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค

อ้างอิงที่มา :

  • ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ
  • การเพาะกบ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • www.sarakaset.com

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง