การผลิตมะนาวนอกฤดู (ฤดูแล้ง) ในบ่อซีเมนต์
รู้จัก การผลิตมะนาวนอกฤดู (ฤดูแล้ง) ในบ่อซีเมนต์
การผลิตมะนาวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์ เป็นเทคนิคการบังคับต้นมะนาวให้ออกผลพร้อมเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตมะนาวในตลาดมีน้อยและมีราคาสูงถึงผลละประมาณ 2-7 บาท นับเป็นทางเลือกด้านการประกอบอาชีพที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัดหรือมีสภาพดินไม่เหมาะจะปลูกพืชชนิดอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่สนใจปลูกมะนาวเป็นอาชีพเสริมรายได้
เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์ เป็นวิธีการบังคับมะนาวให้ออกผลนอกฤดูที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถบังคับให้ออกดอกติดผลตามวันเวลาที่ต้องการได้ 100% เนื่องจากผู้ปลูกสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อให้มะนาวออกผลนอกฤดูได้นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทำให้กำจัดวัชพืชได้ง่าย และต้นมะนาวก็ได้รับน้ำและปุ้ยอย่างเต็มที่ โดยผลผลิตมะนาวที่ได้จะอยู่ระหว่าง 25 – 1,๐๐๐ ผลต่อต้น ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ที่ปลูก อายุต้น สภาพแวดล้อม และการบำรุงดูแลรักษา
วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ คำแนะนำ ขั้นตอนและวิธีการปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อ ซีเมนต์ มีดังนี้
วัสดุและอุปกรณ์
- กิ่งพันธุ์มะนาว
- วงบ่อซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80-100 ชม. สูง 40 – 60 ซม. พร้อมฝาซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับวงบ่อ
- ดินผสม
- ระบบท่อน้ำ / ท่อน้ำหยด
- ปุ๋ยเคมีบำรุงต้น ดอก และผล
- สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง
การคัดเลือกพันธุ์มะนาว
มะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถใช้ได้ทุกพันธุ์ แต่ที่สำคัญต้องเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมีการออกดอก ติดผลง่าย ให้ผลดก ผลขนาดใหญ่ เปลือกบาง น้ำมาก กลิ่นหอม และทนทานต่อโรคแมลง พันธุ์มะนาวที่ตลาดนิยม ได้แก่ พันธุ์แป้นรำไพ แป้นจริยา พิจิตร 1 และตาฮิติ โดยพันธุ์พิจิตร 1 และพันธุ์ตาฮิติ เป็นมะนาวที่ทนทานต่อโรคแคงเกอร์ ที่ผล ใบ และลำต้น ได้ดีกว่าทุกพันธุ์
ตัวอย่าง พันธุ์มะนาวที่ตลาดนิยมในปัจจุบัน ได้แก่
- พันธุ์แป้นรำไพ : ใบค่อนข้างเล็ก หนามสั้น ผลแป้น โตและดก เปลือกบาง มีน้ำมากกลิ่นหอม เมล็ดน้อย แต่มีข้อเสียคือ อ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์
- พันธุ์พิจิตร 1 : ใบใหญ่หนาสีเขียวเข้ม หนามยาวโตเร็ว ดูแลง่าย ทนทานต่อโรคแคงเกอร์ผลแป้นขนาดใหญ่และดก มีน้ำมาก กลิ่นหอม แต่เปลือกผลจะหนากว่าพันธุ์แป้นรำไพ
- พันธุ์ตาฮิติ : ใบใหญ่หนาสีเขียวเข้ม ปลูกง่าย โตไว ทนทานต่อโรคแคงเกอร์ผลกลมหรือรีขนาดใหญ่และดก เปลือกค่อนข้างหนาและนิ่ม ไม่มีเมล็ด มีน้ำมากและรสเปรี้ยว มีกลิ่นหอมน้อยกว่ามะนาวแป้น
- พันธุ์มะนาวไข่ : ใบใหญ่ เมล็ดน้อย ผลเล็ก เปลือกบาง น้ำมาก และมีกลิ่นหอมแต่ไม่ทนทานต่อโรคแคงเกอร์
- พันธุ์มะนาวพวง : ใบใหญ่ หนามยาว ผลรูปไข่ เปลือกหนา เมล็ดน้อย มีกลิ่นหอมเล็กน้อย
- พันธุ์น้ำหอม : ใบรูปรี ใบใหญ่ หนามสั้น เปลือกบาง น้ำเยอะ ดอกมีสีขาวปนม่วงมีกลิ่นหอม
การเตรียมวงบ่อซีเมนต์
ควรใช้วงบ่อซีเมนต์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80-100 ชม. สูง 40-60 ชม. พร้อมฝาซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับวงบ่อหรือใหญ่กว่าวงบ่อเล็กน้อย โดยฝ่าซีเมนูต์ดังกล่าวจะใช้วางด้านล่างวงบ่อ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รากมะนาวหยั่งลงดินด้านล่าง
ระยะการวางบ่อซีเมนต์
เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาและปฏิบัติงาน ควรวางวงบ่อเป็นแถว หากมีพื้นที่จำกัดควรวางแถวเดี่ยวระยะ 2 x 2 เมตร หรือ 2 x 3 เมตร แต่ถ้ามีพื้นที่เพียงพอ ควรวางวงบ่อแบบแถวคู่ระยะ 3 x 3 เมตร โดยให้แต่ละคู่ห่างกันประมาณ 4 เมตร
การเตรียมดินปลูก
ดินที่ใช้ผสมเป็นดินปลูกควรเป็นดินชั้นบนที่มีลักษณะเป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์สูง โดยเลือกใช้สัดส่วนการผสมสูตรใดสูตรหนึ่งดังนี้
- ดินร่วน : ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก : แกลบดำ ในอัตรา 3 : 2 : 1
- ดินร่วน : ปุ๋ยคอก : ปุ๋ยหมัก : แกลบดำ ในอัตรา 3: 1 : 1 : 1
เมื่อได้ส่วนผสมที่ต้องการแล้ว ให้คลุกเคล้าให้เข้ากัน
วิธีการปลูกและการดูแลบำรุงรักษา
- วางวงบ่อซีเมนต์พร้อมฝาด้านล่าง ในบริเวณพื้นที่ที่เตรียมไว้ โดยมีระยะห่างตามเกณฑ์ และต้องเป็นที่ที่มีแสงแดดตลอดวัน
- ตักดินที่ผสมแล้วใส่ลงในวงบ่อ กดดินหรือขึ้นเหยียบดินโดยเฉพาะบริเวณขอบบ่อด้านล่างให้แน่น พูนดินสูงจากปากบ่อประมาณ 20-30 ชม. เผื่อดินยุบตัว
- ขุดหลุมเล็กน้อย ผสมคลุกเคล้าปุ๋ยเคมีสูตร 15 -15 -15 ในอัตรา 100 – 150 กรัมต่อหลุม (ประมาณครึ่งกำมือ) ในวงบ่อ จากนั้นนำกิ่งมะนาวปลูกลงกลางบ่อ กลบดินเล็กน้อย แล้วใช้ไม้ไผ่ปักเป็นหลักกันลมโยกต้นมะนาว และรดน้ำให้ชุ่ม
- หลังจากปลูกแล้วควรใช้เศษฟางข้าว หญ้าแห้ง แกลบดิบ กาบมะพร้าว ฯลฯคลุมโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและคลุมวัชพืชในวงบ่อ
- การให้น้ำ ใช้สายยาง หรือระบบน้ำสปริงเกอร์ หรือระบบน้ำหยด ให้น้ำต้นมะนาววันละ 1 – 2 ครั้ง หรือวันละ 1 ครั้ง เฉพาะตอนเช้า
- การให้ปุ๊ย หลังปลูกมะนาวได้ 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ ๑16-16-16 + ปุ๋ยยูเรียเล็กน้อย อัตรา 100-150 กรัมต่อต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตจากนั้นให้ปุ๋ยสูตรเดียวกันนี้เดือนละ 1 ครั้ง ส่วนในระยะบังคับให้ออกดอกควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูงในอัตรา 100-140 กรัมต่อต้น
- หมั่นตัดแต่งกิ่งมะนาวที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ถ้าต้นมะนาวสมบูรณ์ดี จะแตกกิ่งเล็กๆ เป็นจำนวนมาก ควรตัดกิ่งที่ไม่เป็นระเบียบ กิ่งที่ซ้อนกัน กิ่งที่อยู่ด้านล่างของต้น รวมทั้งกิ่งที่เป็นโรคและแมลงทำลายออก เหลือไว้เพียงกิ่งหลักๆ ให้กระจายไปทั่วต้น ไม่ควรหนักไปทางทิศใดทิศหนึ่งมากเกินไป เพราะเมื่อมะนาวติดผลกิ่งอาจหักหรือต้นโค่นล้มได้
- การค้ำกิ่ง มะนาวที่ปลูกในวงบ่อจะมีการกระจายของรากจำกัดเฉพาะในวงบ่อทำให้ต้นโค่นล้มได้ง่ายกว่าต้นมะนาวที่ปลูกลงดินโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีลมแรงดังนั้น หากมะนาวติดผลดกมากควรใช้ไม้ไผ่ค้ำยันกิ่งและลำต้นไว้ ในลักษณะนั่งร้านสี่เหลี่ยมหรือปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยม การใช้ไม้ปักค้ำยันกิ่งและลำต้นมะนาวในระยะติดผล เพื่อป้องกันกิ่งหักหรือต้นโค่นล้ม
- หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการตัดแต่งมะนาวในแต่ละปีแล้ว ควรเพิ่มดินปลูกลงในวงบ่อให้เต็มปากบ่อโดยมีลักษณะพูนสูงขึ้นเล็กน้อย โดยใช้ส่วนผสม ดินร่วน : ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก : ขี้เถ้าแกลบดำ ในอัตราส่วน 2:1:1 หรือ ดินร่วน : ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก 2 : 1 + ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 100-150 กรัม
- ควรหมั่นตรวจดูโรคและแมลง หากพบควรฉีดพ่นยาฆ่าแมลง หรือ สารป้องกันโรคพืชอย่างสม่ำเสมอ
โรคและแมลง กับแนวทางป้องกัน
โรคที่สำคัญของมะนาว
- โรคแคงเกอร์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วนของต้น ลักษณะอาการของโรคจะคล้ายกันคือ เป็นแผลกลม แล้วจะขยายใหญ่ขึ้น ฟูนูนคล้ายฟองน้ำสีเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบแผลเมื่อเกิดโรคมากต้นมะนาวจะโทรม แคระแกร็น ใบร่วง ผลผลิตลดลง กิ่งและต้นจะแห้งตายในที่สุดการป้องกันโรคแคงเกอร์ ทำได้โดยการเลือกใช้พันธุ์ทนทานต่อโรคนี้มาปลูก เช่น พันธุ์พิจิตร ๑พันธุ์ตาฮิติ หากเป็นโรคให้ใช้วิธีการกำจัดโดยตัดกิ่งใบและผลที่เป็นโรคไปเผาทำลาย และพ่นสารเคมีกำจัดโรค เช่น สารแคงเกอร์เอ็กซ์ เป็นต้น
- โรครากและโคนเน่า เกิดจากเชื้อราไฟทอฟทอร่า ซึ่งเข้าทำลายรากฝอย รากแขนงและตามโคนต้น ทำให้มีอาการใบเหลือง โดยเริ่มที่เส้นกลางใบก่อนแล้วค่อยลุกลามไปส่วนอื่นๆ ของใบจากนั้นใบจะร่วง กิ่งแห้งตาย ผลร่วงหล่นง่าย ถ้าเป็นโรคมากต้นมะนาวอาจตายได้
สามารถป้องกัน โรคนี้ได้โดยไม่ปลูกมะนาวลึกเกินไป ไม่นำปุ๋ยคอกหรือปุ้ยหมักสดที่ยังไม่สลายตัวดีมาเป็นวัสดุปลูก การกำจัดโรคให้ใช้สารเมทาแลคซิลละลายน้ำรดบริเวณโคนต้นที่เป็นโรค - โรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคยางไหล โรคใบแก้ว โรคทริสเทซ่า และโรคราดำใช้วิธีป้องกันและกำจัดเช่นเดียวกับพืชสกุลส้มทั่วไป
แมลงที่สำคัญ
- หนอนชอนใบ การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งยอดอ่อนใบอ่อนที่มีไข่หรือหนอนไปเผาทำลายหรือพ่นสารเคมี เช่น สารคาร์บาริล หรือสารคาร์โบซัลแฟน
- เพลี้ยไฟ การป้องกันกำจัด ให้พ่นสารเคมีคาร์โบซัลแฟน หรือ อิมิดาโคลฟริด
- ไรแดง การป้องกันกำจัด ให้พ่นกำมะถันผงชนิดละลายน้ำในช่วงตอนเช้าหรือเย็น หรือพ่นด้วยสารไดโคฟอล เช่น เคลเทน เป็นต้น เพื่อรักษาผิวมะนาวไม่ให้ขรุขระหรือกระด้างไม่น่ารับประทาน
- เพลี้ยหอย การป้องกันกำจัด ให้ตัดแต่งกิ่งที่พบเพลี้ยหอยระบาดไปเผาทำลายหรือพ่นสารปีโตรเลียม สเปรย์ออยล์
การบังคับต้นมะนาวให้ออกผลผลิตนอกฤดู (ฤดูแล้ง)
ตามปกติแล้วมะนาวจะออกดอกและติดผลในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม – สิงหาคม)และจะเก็บผลผลิตในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลผลิตมะนาวในตลาดมากและราคาจำหน่ายค่อนข้างต่ำ ส่วนการบังคับให้มะนาวออกผลผลิตนอกฤดูจะทำให้มะนาวออกผลผลิตหลังจากฤดูปกติ คือช่วงฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ – เมษายน) ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้จึงสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว
สำหรับเทคนิควิธีการบังคับให้มะนาวออกนอกฤดู มีดังต่อไปนี้
- มะนาวที่จะบังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดูควรมีอายุการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ 8 เดือน หรือ 1 ปีขึ้นไป
- ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ให้เด็ดดอกและผลมะนาวในฤดูออกให้หมด
- ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ให้นำแผ่นพลาสติก ขนาดกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร ยาว 1.5 – 2 เมตร มาคลุมให้รอบวงบ่อด้านบนให้มิดชิดโดยให้ชายพลาสติกด้านหนึ่งมัดติดกับโคนต้นมะนาวสูงจากพื้นดินปากบ่อ 20 – 30 ชม. เพื่อกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงดินในวงบ่อ ส่วนชายอีกด้านหนึ่งให้มัดติดไว้โดยรอบปากบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วันเมื่อมะนาวเริ่มมีอาการใบเหี่ยวและสลัดใบทิ้งไปประมาณ 45 – 80% ให้นำพลาสติกที่คลุมอยู่ออก
- บำรุงต้นมะนาวโดยการให้น้ำ พร้อมปุ้ยสูตร 12-24-12 ในอัตรา 100-150 กรัมต่อต้น ซึ่งถ้าต้นมะนาวสมบูรณ์ดี หลังจากให้น้ำและปุยแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ต้นมะนาวจะเริ่มแตกใบอ่อนและผลิตาดอก จากนั้นจะเริ่มออกดอกติดผล ช่วงนี้เกษตรกรต้องหมั่นดูแลรักษาไม่ให้โรคแมลงทำลาย โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนชอนใบ
- ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยวิธีการโปรยน้ำ อย่าให้หน้าดินแข็ง
การเก็บเกี่ยว
หลังจากมะนาวออกดอกและติดผลนอกฤดูได้ 4 – 5 เดือน เกษตรกรก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะนาวที่แก่ได้ที่แล้วออกจำหน่ายในตลาดได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนโดยระยะเวลาการเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูกและช่วงเดือนที่บังคับ อย่างไรก็ตามไม่ควรปล่อยผลมะนาวที่แก่แล้วอยู่บนต้นนานๆ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองสารอาหารที่ใช้เลี้ยงผล และอาจจะทำให้ต้นทรุดโทรมได้ ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วต้นมะนาวจะมีอายุการให้ผลผลิตประมาณ 5-7 ปี
ที่มา : งานวิชาการเกษตร ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ Mail- spkphusing@hotmail.com
บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง